"จีน-ญี่ปุ่น" ชิงไหวชิงพริบ ปักธงจอง "ระบบรถไฟไทย

แชร์บทความนี้

ยังคงเป็นที่จับตาความคืบหน้าโปรเจ็กต์รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่นภายใต้การผลักดัน "รัฐบาล คสช." ผ่านมาเกือบ 1 ปี "รถไฟไทย-จีน" เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายและแก่งคอย-มาบตาพุด 873 กม.หลังลงนาม MOU เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557


ถึงแม้เงินลงทุนยังไม่ชัด เพื่อจะนำไปสู่จุดคิกออฟการก่อสร้าง เนื่องจากต้องรอบทสรุปสุดท้ายรูปแบบการลงทุนจะร่วมกันลงขันในบริษัทเฉพาะกิจ (SPV) วงเงินกู้และอัตราดอกเบี้ย


ครบ 1 ปีรถไฟไทย-จีน


แต่ให้เห็นภาพก้าวหน้าโครงการตลอด 1 ปี ที่ผ่านการเจรจามาถึง 8 ครั้ง ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ทางรัฐบาลไทยกับจีนจะทำพิธีวางศิลาฤกษ์ มี "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคมและรองเลขาธิการสภาพัฒน์ของจีนร่วมกันปักธงโครงการที่สถานีเชียงรากน้อย จะเป็นศูนย์ควบคุมการบริหารเดินรถ (OCC)


เป้าหมายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงจุดเริ่มต้นโครงการ และตีตราจองเส้นทางนี้ไว้ก่อน รวมถึงเป็นการฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน



ส่วนรายละเอียดเชิงลึกยังลุ้นกันต่อ ฝ่ายจีนจะใจอ่อนลดอัตราดอกเบี้ยให้ 2% หรือไม่ ในเมื่อล่าสุดจีนยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% (ไม่รวมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน) ระยะเวลากู้ 20 ปี


ทั้งนี้ในการประชุม "ครม.-คณะรัฐมนตรี" วันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบถึงความร่วมมือจะลงนามร่วมกันเร็ว ๆ นี้


"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้ารถไฟไทย-จีนเรื่องกรอบความร่วมมือ 5 เรื่อง

1.การพัฒนารางรถไฟให้เป็นมาตรฐาน 1.435 เมตร แบ่งเป็น4 ตอน คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช และโคราช-หนองคาย จะเริ่มสร้างกรุงเทพฯ-โคราชเดือนพ.ค. 2559

2.การเดินรถ จะจัดตั้ง SPV ลงทุนระบบตัวรถ การเดินรถและบำรุงรักษา สวนสัดส่วนลงทุนต้องหารือต่อไป ซึ่งไทยเสนอให้ลงทุนสัดส่วน 50:50

3.ขอบเขตของงาน จีนศึกษาความเหมาะสม สำรวจและออกแบบโครงการ ได้ส่งผลศึกษาระยะแรกแล้ว รอข้อมูลเพิ่ม เช่น ปริมาณผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า อีกทั้งเห็นชอบหลักเกณฑ์เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (ไชน่าเอ็กซิมแบงก์) ต้องให้กู้อัตราผ่อนปรนที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น

4.การเดินรถและซ่อมบำรุง จีนรับผิดชอบ 3 ปีแรก ช่วง 3-7 ปี ไทยและจีนรับผิดชอบ 50:50 หลังปีที่ 7 ไทยรับผิดชอบทั้งหมด และ

5.จะพัฒนาบุคลากรร่วมกัน


19 ธ.ค.ปักธงสัญลักษณ์โครงการ


"วันที่ 19 ธ.ค.จะมีพิธีแสดงถึงการเริ่มต้นโครงการที่สถานีเชียงรากน้อย หลังจีนส่งแบบรายละเอียดครบทั้งโครงการ จะเสนอครม.อนุมัติหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจีนให้บริษัท CRCC และ CREC ดำเนินการร่วมกับผู้รับเหมาไทย แต่ขอย้ำว่าก่อนจะเริ่มสร้างต้องได้ข้อยุติแบบรายละเอียด การลงทุน เงินกู้ ดอกเบี้ย" นายอาคมกล่าวย้ำ


ทั้งนี้ มีการข้อสังเกตว่าการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างไทย-จีนพร้อมกันทั้งรถไฟและการซื้อสินค้าเกษตร น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งที่ผ่านมาจีนรีรอจะลงนามซื้อข้าวและยางพารา แต่เมื่อโครงการรถไฟไทย-จีน ฝ่ายไทยตกลงจะทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ฝ่ายจีนจึงตกลงลงนามกรอบความร่วมมือด้วย


"กรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีนจะลงนามเร็ว ๆ นี้ จะพร้อมกับกรอบความร่วมมืออีก 2 ฉบับ คือ สัญญาซื้อขายข้าวฤดูกาลผลิตใหม่กับบริษัท คอฟโก้ และสัญญาซื้อขายยางพารา 2 แสนตันกับบริษัท Sinochem" แหล่งข่าวกล่าว


ญี่ปุ่นเร่งสปีดรถไฟเชื่อมทวาย


ในส่วนของ "รถไฟไทย-ญี่ปุ่น" แม้จะลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เมื่อกลางปี 2558 แต่ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นกำลังเร่งสปีดโครงการให้เกิดเร็วขึ้น โดยภาพความชัดเจนจะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 25-28 พ.ย.นี้ หลัง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เยือนประเทศญี่ปุ่น


นายอาคมกล่าวว่า รถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคมไทยกับญี่ปุ่นเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตกด้านล่างก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางพาดผ่านกลุ่มคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง


ประเดิมยกเครื่องรางเก่า


แบ่งเป็น 3 ส่วน จะเริ่มเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบังเป็นลำดับแรก โดยปรับปรุงทางและรางเก่าขนาด 1 เมตรให้แข็งแรง เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดและรองรับการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังต่อไปยังทวาย จะเริ่มสร้างปีหน้า


ส่วนการเดินรถจะตั้ง SPV ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับเอกชนญี่ปุ่น ขณะที่การพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่ จะดำเนินการหลังผลศึกษาเสร็จ


สำหรับรถไฟเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร 770 กม. จะปรับแนวใหม่ช่วงแม่สอด-ตาก ลงมากำแพงเพชร-นครสวรรค์ และให้ญี่ปุ่นศึกษาช่วงพิษณุโลก-ขอนแก่นเพิ่ม ส่วนช่วงานไผ่-นครพนม-มุกดาหาร ศึกษาแล้ว


ด้านรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 กม. ผลศึกษาจะเสร็จปีหน้า เริ่มสร้างต้นปี 2560 แต่จะเสนอ ครม.อนุมัติหลักการ มิ.ย. 2559


"อาคม" ย้ำว่า รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เป็นโครงข่ายเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งรัด เตรียมพร้อมรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สระแก้ว กาญจนบุรีและทวายที่รัฐบาลไทย พม่าและญี่ปุ่นจะร่วมกันพัฒนาโครงการ


เป็นความคืบหน้าของสองยักษ์ระบบรางที่กำลังรุกคืบมายังประเทศไทย ส่วนใครจะปักธงสำเร็จก่อนกัน ต้องติดตามกันต่อไปนับจากนี้


ข้อมูลจาก prachachat.net

แชร์บทความนี้

热门文章


文章

เตรียมบ้านให้พร้อมและปลอดภัย ในช่วงวันหยุดยาว

ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว หลายคนเลือกที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว หรืออาจกลับบ้านไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ที่ต่างจัง ... 继续阅读......

5 ทริคแต่งบ้านสวยด้วยสไตล์รีสอร์ท ให้บรรยากาศร่มรื่นน่าอยู่

ส่วนมากแล้วคนเรา มักจะอยากได้บ้านที่มีความสวยงาม ร่มรื่น เงียบสงบ มีมุมสวย ๆ เอาไว้นั่งทอดน่องในช่วง ... 继续阅读......

6 กลยุทย์การตลาดอสังหาฯ เพื่อเพิ่มยอดขายและมีลูกค้า Walk-in

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภททั้งบ้าน คอนโด ที่ดิน อาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มีการแข่งขันกันสูงมากในย ... 继续阅读......

วิธีคลายร้อนให้บ้าน ช่วงหน้าร้อนนี้

อากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไท ... 继续阅读......

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... 继续阅读......