ขั้นตอนและเอกสารโอนบ้านที่สำนักงานที่ดิน (บุคคลธรรมดา)

แชร์บทความนี้

เมื่อผ่านขั้นตอนการ หาซื้อบ้าน จนเจอบ้านที่ถูกใจและตกลงซื้อขายกับเจ้าของบ้านได้เรียบร้อยแล้ว ถ้าคุณมีเงินสด ซื้อได้เลย ก็นัดวันกันไปทำเรื่องโอนได้ที่สำนักงานที่ดินได้เลย หรือกรณีที่คุณยื่นกู้กับสถาบันการเงิน และกู้ผ่านเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนัดวันกับเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อโอนที่ได้เลย   


มาดู ขั้นตอนและการเตรียมเอกสารก่อนไปโอนซื้อขายบ้าน กัน


1. ค้นหาสำนักงานที่ดิน ในพื้นที่ของโฉนดที่จะขาย 

ก่อนอื่น ไม่ใช่ว่าคุณจะไปเข้าสำนักงานที่ดินที่ไหนก็ได้ แต่ควรจะทราบก่อนว่า โฉนดที่ดินที่จะขายหรือซื้อนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดินใด ตั้งอยู่ที่ไหน เพื่อไม่ให้ไปผิดสถานที่  


โดยเราสามารถโทรสอบถามสำนักงานที่ดิน หรือ ตรวจสอบง่ายๆ โดยใช้ ระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน จากนั้นใส่เลขที่โฉนด อำเภอ จังหวัด ของโฉนดที่จะขาย เท่านี้ระบบจะแสดงข้อมูลว่า ที่ดินนี้เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดินไหน พร้อมทั้งมีตำแหน่งที่ตั้งสำนักงานที่ดินให้คุณอีกด้วย 

2. เตรียมเอกสารสำหรับซื้อขายบ้าน

เอกสารผู้ขาย (เจ้าของโฉนด)


กรณีผู้ขายมาด้วยตัวเอง 

1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขาย (ตัวจริง)

2. ทะเบียนบ้านของผู้ขาย (ตัวจริง) **หากไม่มี ต้องคัดทะเบียนบ้านเฉพาะรายบุคคลที่เขตหรืออำเภอ**

3. โฉนดอสังหาฯ ที่จะขาย (หากติดจำนองกับธนาคารอยู่ ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารนำมาไถ่ถอน)


ถ้าผู้ขายมีเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (กรณีชื่อปัจจุบันไม่ตรงกับชื่อที่ปรากฎในโฉนด)

  • หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล พร้อมสำเนา


ถ้าผู้ขายจดทะเบียนสมรส 

  • หนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมของคู่สมรส (ดาวน์โหลดที่นี่)
  • ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า พร้อมสำเนา 
  • ใบมรณบัตรคู่สมรสและสำเนา (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)  


กรณีผู้ขายมอบอำนาจ 

1. หนังสือมอบอำนาจ ท.ด.21 (ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจที่นี่)

2. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขาย

3. บัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

4. ทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ


เอกสารผู้ซื้อ

1 บัตรประชาชนตัวจริงของผู้ซื้อ

2 สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีผู้ซื้อจดทะเบียนสมรส คู่สมรสไม่จำเป็นต้องมาด้วย)

3 ทะเบียนบ้านตัวจริงของผู้ซื้อ

4 กรณีกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคาร จะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมาด้วย

5 กรณีจ่ายเป็นเช็คเงินสด ถ่ายสำเนาเช็คมาด้วย 



3. เตรียมค่าใช้จ่ายในการโอนที่

คำนวณค่าธรรมเนียมและภาษีอากร

นอกเหนือจากเอกสาร ก็อย่าลืมเตรียมเงินด้วย นอกจากราคาซื้อขายที่ตกลงกันแล้ว ในวันที่โอนที่ดิน ก็ยังมีค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากร อีกด้วย ตรงนี้ก็อยู่ที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน 

 >> คลิกคำนวณค่าใช้จ่ายในการโอนที่ของคุณ


สำนักงานที่ดินส่วนใหญ่รับเงินสด แต่ในปี 2563 นี้ กรมที่ดินก็มีนำร่อง 146 สำนักงาน เพิ่มช่องทางให้ชำระค่าธรรมเนียมที่ดินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต และสแกน QR CODE ผ่าน Mobile App ของทุกธนาคารได้แล้ว คลิกดูสำนักงานที่ดิน นำรองสังคมไร้เงินสดว่ามีที่ไหนบ้าง

>> ดู 146 สำนักงานที่ดินนำร่องจ่ายผ่านบัตรและ QR code ได้


4. ขั้นตอนการซื้อขายบ้าน ณ สำนักงานที่ดิน  

สำนักงานที่ดิน เปิดบริการตามวันทำงานราชการ ตั้งแต่ 8:00 - 16:30 น. การโอนซื้อขายบ้าน หากไม่มีปัญหาขัดข้องอื่นๆ ก็มักจะใช้เวลาอยู่ที่ 1-2 ชั่วโมง เริ่มขั้นตอนดังนี้


1. กดรับบัตรคิวเพื่อติตด่อประชาสัมพันธ์ (บางแห่งต้องกดรับ บางแห่งไม่ต้อง ขึ้นอยู่กับสำนักงานที่ดินในแต่ละพื้นที่)


2. ยื่นเอกสารทั้งหมดให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แจ้งเจตจำนงในการ ซื้อขายบ้าน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และให้บัตรคิวเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ชำนาญการต่อไป 


3. เจ้าหน้าที่จะเรียกสอบถามราคาซื้อขาย พร้อมเซ็นเอกสารคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม **อย่าลืมอ่านและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนลงลายมือ หากเป็นฟอร์มเปล่า อย่าเซ็น** 


4. เจ้าหน้าที่จะคำนวณค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน และให้เรานำไปชำระที่ฝ่ายการเงิน โดยจะต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้ง ตามที่จ่ายจริง 


5. จากนั้นนำใบเสร็จกลับมายื่นที่เคาท์เตอร์เจ้าหน้าที่ชำนาญการเดิม เก็บใบเสร็จไว้ และรอเรียกอีกครั้ง 


6. เจ้าหน้าที่จะเรียกเราไปรับโฉนดที่ดินคืน พร้อมระบุเจ้าของใหม่ (ผู้ซื้อ) หลังโฉนด เป็นการเสร็จสิ้น **อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องให้เรียบร้อยก่อนแยกย้าย เช่น ลงชื่อสะกดถูกต้องไหม ได้โฉนดที่มาซื้อหรือเปล่า เป็นต้น**


ข้อแนะนำ 

1. ถ้าเป็นไปได้เอกสารของผู้ขายและผู้ซื้อควรนำทั้งตัวจริงและถ่ายสำเนามาด้วย ที่สำนักงานที่ดินแม้จะมีบริการถ่ายเอกสาร (หน้าละ 2 บาท) แต่บางครั้งคิวยาว ทำให้เสียเวลาตรงนี้เช่นกัน แนะนำเตรียมสำเนามาพร้อมจากบ้านเลยดีกว่า ใช้ไม่ใช้ก็มีไว้อุ่นใจ


2. สำนักงานที่ดินแอบกระซิบมาว่า "การแจ้งราคาทุนทรัพย์หรือราคาซื้อขายต่ำกว่าราคาที่แท้จริงอาจทำให้ขาดสิทธิเรียกร้องอันพึงมี พึงได้ตามสัญญา และอาจถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญา รวมทั้งต้องชำระค่าภาษีอากรจนครบถ้วนตามกฎหมายพร้อมเบี้ยปรับ" ดังนั้น ระบุราคาซื้อขายตามจริงนะจ๊ะ


3. ไปเช้าดีกว่า เตรียมเอกสารให้พร้อมทั้งสองฝ่าย สำนักงานเขตบางแห่ง ถ้าเอกสารฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มี เช่น ผู้ขายถึงสำนักงานที่ดินก่อนจะยื่นเรื่องก่อน แต่ไม่มีเอกสารผู้ซื้อเพราะยังมาไม่ถึงสำนักงานที่ดิน ประชาสัมพันธ์ก็อาจข้ามคิวเราไปได้ นัดแนะทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายให้มาเวลาเดียวกันด้วย




แชร์บทความนี้


热门文章


文章

วิธีคลายร้อนให้บ้าน ช่วงหน้าร้อนนี้

อากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไท ... 继续阅读......

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... 继续阅读......

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... 继续阅读......

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... 继续阅读......

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... 继续阅读......