คนกรุงทำใจ จราจรติดหนัก อีก 5 ปี โหมสร้างรถไฟฟ้า เร่งคุมกำเนิดรถ

แชร์บทความนี้

คนกรุงทำใจรถติดนานอีก 5 ปี จากปัจจุบันติดหนักสุดอยู่ที่ 5.1 ก.ม ต่อชั่วโมง โหมสร้างอุโมงค์ ทางด่วน รถไฟฟ้า 4 สาย สนข.ชี้แนวโน้มราคาน้ำมันลดลง รถใหม่เพิ่มวันละพันคัน เผยไม่มีถนนและสะพานข้ามเจ้าพระยาแห่งใหม่ ทำให้เมืองกระจุกในเขตชั้นใน เปิดโผ 5 ถนนแชมป์รถติด สาทร-พระราม 9-เจริญกรุง-บางพลัด-อโศก กทม.แนะรัฐบาลเร่งคุมกำเนิดรถ แก้วิกฤตอนาคต


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สรุปอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ พบว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา การจราจรติดขัดยังเป็นปัญหาต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกทิศทาง สาเหตุหลักมาจาก

1. มีการปิดจราจรถนนหลัก เพื่อสร้างรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) สีแดง (บางซื่อ-รังสิต) และสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) รวมถึงโครงการสร้างทางลอดแยกไฟฉาย ทางลอดมไหสวรรย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก

2. ปริมาณรถยนต์มีจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี สถิติปี 2558 เฉลี่ยวันละ 1,063 คัน

3.จำนวนรถยนต์สะสมในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 293,619 คัน สถิติ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2558 อยู่ที่ 8.94 ล้านคัน

4.ผลจากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง

5.การเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองและประชากรแฝง และ

6.ไม่ได้เพิ่มโครงข่ายถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่


เปิดโผ 5 ถนนรถติดหนักสุด


จากผลสำรวจ 5 ถนนที่มีปัญหารถติดมากที่สุดช่วง 06.00-09.00 น. คือ

1.กรุงธนบุรี (กรุงธนบุรี-สุรศักดิ์) ความเร็วเฉลี่ย 5.1 กม./ชม.

2.พระราม 9 (รามคำแหง-พระราม 9) ความเร็วเฉลี่ย 9.7 กม./ชม.

3.เจริญกรุง (ถนนตก-สุรวงศ์) ความเร็วเฉลี่ย 10.6 กม./ชม.

4.ราชวิถี (บางพลัด-อุภัย) ความเร็วเฉลี่ย 10.8 กม./ชม. และ

5.สุขุมวิทชั้นใน (อโศก-นานา) ความเร็วเฉลี่ย 10.8 กม./ชม.


สำหรับ 5 ถนนที่มีปัญหารถติดหนักสุดในช่วง 16.00-19.00 น. ได้แก่

1.เจริญกรุง (สุรวงศ์-ถนนตก) ความเร็วเฉลี่ย 8.8 กม./ชม.

2.ราชวิถี (แยกอุภัย-บางพลัด) ความเร็วเฉลี่ย 8.9 กม./ชม.

3.สุขุมวิทชั้นใน (นานา-อโศก) ความเร็วเฉลี่ย 10.2 กม./ชม.

4.ประชาชื่น (เฉลิมพันธ์-พงษ์เพชร) ความเร็วเฉลี่ย 12.2 กม./ชม. และ

5.พระราม 4 ชั้นใน (หัวลำโพง-เกษมราษฎร์) ความเร็วเฉลี่ย 12.4 กม./ชม.


รถใหม่เพิ่มขึ้นวันละพันคัน


จากข้อมูลระบุอีกว่า แนวโน้มปี 2559 สนข.คาดว่าปัญหารถติดจะมีมากขึ้น เพราะทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ ทั้งยังไม่มีถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรได้ แม้มีรถไฟฟ้า แต่การเดินทางยังไม่เชื่อมโยงถึงกันหมด ทำให้คนนิยมขับรถมาทำงานในเมือง และรถยนต์ยังเป็นสินค้ายอดนิยมของคนเมือง ดูจากยอดจดทะเบียนรถใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยวันละ 1,000 คัน


นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จะปิดถนนพหลโยธินสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างจริงจัง เพื่อขึ้นโครงสร้างงานโยธาบริเวณเกาะกลางถนน ซึ่งจะส่งผลกระทบ ทำให้รถติดมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เมื่อครั้งรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค


ปิดแยกรัชโยธิน 3 ปี


การปิดแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดนั้น จะใช้เวลา 3 ปี ซึ่งเป็นแยกสำคัญ ทำให้การจราจรถนนรัชดาภิเษก วิภาวดีรังสิต และเลียบทางด่วนรามอินทราเกิดปัญหารถสะสมหนาแน่น ตามแผนจะปิดการจราจรในเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไปแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2562 โดยจะใช้เทคโนโลยีเร่งงานก่อสร้างเร็วขึ้นจาก 3 ปีเหลือ 2 ปี


"ผู้รับเหมารถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มปิดถนนพหลโยธินแล้ว โดยจะสร้างสถานีหน้าห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าวเป็นจุดสุดท้าย จะเริ่มปี"61 ขอให้ประชาชนเข้าใจ เราจะบริหารจัดการให้ดีที่สุด พร้อมแนะเส้นทางลัดด้วย"


คิวต่อไปรามฯ-พระราม 9


นายพีระยุทธกล่าวอีกว่า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 21 กม. คือคิวต่อไปที่มีแนวเส้นทางพาดผ่านถนนพระราม 9 และรามคำแหง หากต้องปิดพื้นที่ก็น่าเป็นห่วง เพราะรถติดมากอยู่แล้วทุกวันนี้ รวมถึงถนนแจ้งวัฒนะ รามอินทราและลาดพร้าว ที่จะใช้พื้นที่เกาะกลางสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เท่ากับว่า ช่วง 5-7 ปีนี้ ประชาชนต้องยอมรับกับปัญหาจราจรที่จะติดมากขึ้นอีก เพราะแต่ละโครงการจะทยอยเสร็จในปี 2563-2565


"ยอมรับว่าหนักใจพอสมควร เพราะการก่อสร้างในเขตเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้รถไม่ติด เนื่องจากต้องเสียช่องการจราจรไป"


แนะคุมกำเนิดรถ


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.เร่งแก้วิกฤตจราจรตามมาตรการระยะสั้น เช่น ใช้เรือโดยสารเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชน ล่าสุด เปิดเดินเรือคลองภาษีเจริญป้อนผู้โดยสารให้ไปใช้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า รวมถึงการปรับปรุงถนน จุดตัดทางลัด ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มเส้นทางจักรยาน ส่วนมาตรการระยะยาวเร่งสร้างระบบขนส่งมวลชน คาดว่าในปี 2572 จะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5 เท่า กว่า 300 กม.ทั่ว กทม.และปริมณฑล


"อาจมีข้อกังวลบ้าง เพราะกว่าจะถึงปี 2572 กว่ารถไฟฟ้าจะเสร็จ จำนวนรถยนต์ก็จะเพิ่มจาก 8 ล้านเป็น 10 ล้านคัน คิดเป็น 25% และการเคลื่อนย้ายของประชากรใน กทม.จะเพิ่มจาก 17 ล้านเป็น 22 ล้านคน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอีก 20 ล้านคน หรือมากกว่านั้น"


"สัดส่วนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไม่ได้ลดลงเลย แต่ความเร็วเฉลี่ยของรถกลับลดลงเรื่อยๆ จะเหลือแค่ 12 กม./ชม. จากปัจจุบัน 19 กม./ชม. ระบบขนส่งมวลชนแบบรางไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราต้องทำสิ่งอื่นควบคู่ไปด้วย เพื่อแก้วิกฤตจราจร"


โดยเสนอแนะให้เร่งคุมกำเนิดรถยนต์ ผู้ที่จะซื้อรถต้องแสดงหลักฐานว่ามีที่จอดรถและควบคุมการใช้รถส่วนบุคคลในเขตธุรกิจ แม้ทำได้ยากก็ต้องทำ รวมถึงบังคับให้ผู้ใช้รถที่วิ่งเข้าเมืองต้องจ่ายค่าจอดรถสูงขึ้น


ข้อมูลจาก:prachachat.net

แชร์บทความนี้

热门文章


文章

เตรียมบ้านให้พร้อมและปลอดภัย ในช่วงวันหยุดยาว

ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว หลายคนเลือกที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว หรืออาจกลับบ้านไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ที่ต่างจัง ... 继续阅读......

5 ทริคแต่งบ้านสวยด้วยสไตล์รีสอร์ท ให้บรรยากาศร่มรื่นน่าอยู่

ส่วนมากแล้วคนเรา มักจะอยากได้บ้านที่มีความสวยงาม ร่มรื่น เงียบสงบ มีมุมสวย ๆ เอาไว้นั่งทอดน่องในช่วง ... 继续阅读......

6 กลยุทย์การตลาดอสังหาฯ เพื่อเพิ่มยอดขายและมีลูกค้า Walk-in

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภททั้งบ้าน คอนโด ที่ดิน อาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มีการแข่งขันกันสูงมากในย ... 继续阅读......

วิธีคลายร้อนให้บ้าน ช่วงหน้าร้อนนี้

อากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไท ... 继续阅读......

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... 继续阅读......