BTS เฉือนรายได้ 20-40% แลกสร้างโมโนเรลเชื่อม ''เมืองทอง-รัชโยธิน''

แชร์บทความนี้
หลัง “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอสและพันธมิตร “ซิโน-ไทยฯ และราช กรุ๊ป” รวมตัวเป็นหุ้นส่วนธุรกิจในนามกิจการร่วมค้า BSR ยื่นข้อเสนอซองที่ 3 ทุ่มเม็ดเงินอีก 7,158 ล้านบาท ขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทยที่ใช้เงินลงทุนร่วมแสนล้านบาทให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ยืด “สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี” เลี้ยวเข้าเมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 2.8 กม. จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี วงเงินลงทุน 3,379 ล้านบาท และสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” เชื่อมจากแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธิน เชื่อมกับสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 2.6 กม. วงเงินลงทุน 3,779 ล้านบาท

เหตุผลที่มีข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมเส้นทางหลักที่ “กลุ่มบีทีเอส” ได้รับสัมปทานจาก “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ระยะเวลา 30 ปี

“คีรี” บอสใหญ่บีทีเอสเคยระบุถึงที่มาที่ไป ไว้ว่า “เพื่อให้โครงการสมบูรณ์ ผู้โดยสารเดินทางสะดวก ไม่ขาดช่วงเหมือนสายสีม่วงที่ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า ความจริงเวลานี้รถไฟฟ้าหลายสายผู้โดยสารยังไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ ไม่ใช่ว่าการบริการไม่ดี แต่การเชื่อมต่อเส้นทางยังไม่สมบูรณ์พอ”

จึงเป็นที่มาของการจับมือกับพี่ชาย “อนันต์ กาญจนพาสน์” เจ้าของที่ดินในเมืองทองธานี ลงขันสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพูเข้าไปในศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มี 2 สถานี ซึ่งสถานีแรกอยู่บริเวณอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสถานีที่ 2 อยู่บริเวณทะเลสาบ รองรับผู้อยู่อาศัยกว่า 1.5 แสนคน และผู้มาใช้บริการศูนย์การประชุมอิมแพ็คฯกว่า 10 ล้านคน/ปี

ขณะที่สายสีเหลือง “คีรี” แจกแจงว่าจะสร้างไปตามถนนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดที่แยกรัชโยธิน เชื่อสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) มี 3 สถานี คือ สถานีรัชดา สถานีศาลยุติธรรม และแยกรัชโยธิน รองรับแหล่งงานใกล้กับเมเจอร์รัชโยธิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ตึกช้าง

ณ เดือน ธ.ค. 2562 งานก่อสร้างเส้นทางหลักของสายสีชมพูอยู่ที่ 48.06% ยังล่าช้าจากแผน 4-5% และสายสีเหลืองอยู่ที่ 47.71% ยังล่าช้าจากแผนงาน 2.61% ทั้ง 2 สายทางจะแล้วเสร็จเปิดบริการพร้อมกันในเดือน ต.ค. 2564

สำหรับส่วนต่อขยาย 2 ช่วง ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ฤกษ์ตอกเข็ม ต้องขยับไทม์ไลน์การเปิดบริการออกไปประมาณ 1-2 ปี จากเป้าเดิมคาดว่าจะเปิดหวูดพร้อมกันทั้งโครงข่ายในปี 2564



ความคืบหน้าล่าสุดของ 2 ส่วนต่อขยาย ในส่วนของสายสีชมพูผลการเจรจาเพิ่งจะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ไปเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มตอกเข็มอย่างเร็วภายในปลายปีนี้ และแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2566

ที่ยังต้องลุ้นหนัก “ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง” เพราะนอกจากรอการอนุมัติ EIA ยังต้องรอผลการเจรจาปมแย่งผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินที่ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” แพนิก ผลจากการเปิดส่วนต่อขยายสายสีเหลืองที่สร้างเชื่อมกับสถานีลาดพร้าวจะกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของสายสีน้ำเงิน

ทำให้ตกอยู่ในสถานะยังลูกผีลูกคน ไม่รู้จะได้ไปต่อหรือถูกพับแผน อยู่ที่การตัดสินใจของ “บิ๊ก รฟม.” คู่สัญญาของทั้งสองฝ่ายจะทะลวงปมคาใจได้อย่างไร
“ข้อกังวลของ BEM เป็นตัวเลขของอนาคตที่นำมาเจรจากัน ไม่มีใครรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างคือการคาดการณ์ยังหาความจริงไม่ได้ เปิดแล้วอาจจะหนุนกันก็ได้หรือจะกระทบแต่ก็อาจจะไม่มาก” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมวิเคราะห์

ตอนนี้ “รฟม.” ตกอยู่ในบนทาง 2 แพร่ง ถ้าให้บีทีเอสลงทุนก็ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องถูก BEM เคลมในอนาคต ถ้าผู้โดยสารลดลงจริงก็ต้องหามาตรการชดเชย เช่น ขยายเวลาสัมปทาน หรือเจรจาบีทีเอสมารับภาระส่วนนี้แทน แลกกับได้โครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มโดยที่ไม่ต้องควักเงินลงทุน

ขณะที่ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ภายในเดือน ก.พ.นี้จะมีประชุมร่วมระหว่างบีทีเอส BEM และ รฟม.เพื่อหาข้อสรุป ทั้งนี้ จากการศึกษาของ BEM พบว่าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายจะทำให้ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินลดลงประมาณ 9,000 เที่ยวคนต่อวัน

“สายสีเหลืองส่วนต่อขยายยังไงก็ต้องสร้าง กำลังหาข้อยุติและทางออก”


นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับผลเจรจาการตอบแทนของส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงจะใช้สูตรเดียวกัน คือ บีทีเอสจะต้องแบ่งรายได้จากค่าโดยสารทั้งโครงข่ายให้ รฟม.บนพื้นฐานว่าจะไม่นำผู้โดยสารของส่วนต่อขยายมารวมกับสายทางหลัก เพื่อจะทำให้ รฟม.มีรายได้มากและเร็วขึ้น

โดยคิดตามความผันแปรของปริมาณผู้โดยสาร หากเพิ่มมากกว่า 30% ต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. 20% หากเพิ่มมากกว่า 50% ต้องแบ่ง 40% ยังไม่รู้ว่าจะเป็นปีที่เท่าไหร่ รฟม.ถึงจะมีรายได้ส่วนนี้ และตั้งแต่ปีที่ 11-30 รฟม.จะได้เงินรายได้อีกปีละ 250 ล้านบาท อย่างของสายสีชมพูที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดจะเปิดบริการในปี 2564 ผู้โดยสารอยู่ที่199,054 เที่ยวคนต่อวัน หากเปิดส่วนต่อขยายในปี 2566 ผู้โดยสารเพิ่มมากกว่า 30% หรือผู้โดยสารอยู่ที่ 2.6 แสนเที่ยวคนต่อวัน รฟม.ก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ในทันที

ทั้งหมดล้วนเป็นการคาดการณ์ทางวิชาการ ยังต้องลุ้นสิ่งที่คิดกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง ผลลัพธ์จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน



ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


热门文章


文章

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... 继续阅读......

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... 继续阅读......

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... 继续阅读......

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... 继续阅读......

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... 继续阅读......