อสังหาฯคาด บ้านประชารัฐ ระบายสต็อก3.6หมื่นยูนิต

แชร์บทความนี้

ใกล้จบไตรมาสแรก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตื่นตัวหลังภาครัฐคลอดนโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มี รายได้น้อย โครงการ "บ้านประชารัฐ" ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แม้ว่าที่อยู่อาศัยกลุ่มราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีสัดส่วนไม่สูงประมาณ 20% ของตลาดรวม แต่ก็เป็นตลาด ที่มีความต้องการมาก เพียงแต่ที่ผ่านลูกค้า ติดปัญหาการขอสินเชื่อ เมื่อโครงการบ้านประชารัฐเข้าปลดล็อกสินเชื่อ จึงเป็นความหวังของผู้ประกอบการ ในการระบายสต็อกที่มีอยู่เกือบ 4 หมื่นล้านบาท



สัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า "โครงการที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสต็อก เหลือขายราคาไม่เกิน 1.5  ล้านบาท เฉพาะที่ผู้ประกอบการสร้างขาย ทั้งประเทศ มีประมาณ 3.61 หมื่นยูนิต  แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม ในกรุงเทพฯปริมณฑล 2.03 หมื่นยูนิต และภูมิภาค ประมาณ 6,500 ยูนิต ส่วนบ้านจัดสรร  แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2,900 ยูนิต ภูมิภาค 6,400 ยูนิต ทั้งนี้ ยังไม่รวมทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ หรือบ้านมือสอง"

ในจำนวนยูนิตเหลือขายทั่วประเทศ 3.61 หมื่นยูนิต เป็นบ้านจัดสรรสัดส่วนไม่ถึง 5% และคอนโดมิเนียม 20-25% เมื่อนับรวมทั้ง 2 ตลาดแล้ว ที่อยู่อาศัยในระดับราคา ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีสัดส่วนไม่เกิน 20% ของตลาดที่อยู่อาศัยรวม


"บ้านประชารัฐ จะช่วยระบายสต็อก คาดว่าวงเงินสินเชื่อแก่ผู้กู้รายย่อย 4 หมื่นล้านบาท จะช่วยให้ประชาชนซื้อบ้านได้กว่า 4 หมื่นยูนิต และการที่รัฐบาลเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ 23 มี.ค.เป็นต้นไปจนกว่าวงเงินจะหมด ประกอบมาตรการกระตุ้น อสังหาฯที่จะหมดอายุลงในวันที่ 28 เม.ย. จะช่วยให้ตลาดเดือนมี.ค.เป็นต้นไปคึกคัก ช่วยให้อสังหาฯปีนี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ"



อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ระบุว่า โครงการบ้านประชารัฐจะช่วยให้ตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งประมาณ 15-20% เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่มีบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทจำนวนมาก แม้ว่าผู้บริโภคต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภัยแล้งก็ตาม แต่เชื่อว่ายังมีกลุ่มที่มีกำลังซื้อแต่ชะลอการตัดสินใจ หันมาซื้อบ้านเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

และที่สำคัญโครงการบ้านประชารัฐ จะปลดล็อกปัญหาการถูกปฏิเสธสินเชื่อของผู้ซื้อระดับล่าง จากเงื่อนไขการผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) เพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน (Debt to Income Ratio: DTI) ซึ่งจะทำให้วงเงินกู้สูงขึ้น และอัตราผ่อนชำระรายเดือน ลดลง อาทิ กรณีวงกู้ไม่เกิน 7 แสนบาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 3 ปีแรก 3,000 บาทต่อเดือน วงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 7,200 บาทต่อเดือน กรณีกู้ซ่อมแซม ต่อเติม วงเงินกู้ ไม่เกิน 5 แสนบาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 2,100 บาทต่อเดือน


จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีสต็อกที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท กว่า 1.17 หมื่นยูนิต ประกอบด้วย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) 19 โครงการ 4,539 ยูนิต มูลค่าประมาณ 4,771 ล้านบาท แบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 408 ยูนิต มูลค่า 556 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 4,131 ยูนิต 4,215 ล้านบาท


บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) 3,756 ยูนิต จาก 13 โครงการ มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นราคา ไม่เกิน 7 แสนบาท 3,133 ยูนิต และ เกิน  7 แสนบาท 623 ยูนิต

โอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯ กล่าวว่า "โครงการบ้านประชารัฐ จะช่วยกระตุ้นตลาด ต่อยอดจากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนอง สิ้นสุดในวันที่ 28 เม.ย. เพราะโครงการบ้านประชารัฐช่วยให้ผู้บริโภคซื้อที่ดีอยู่อาศัยของตนเองได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจัยทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่เติบโตปัญหาใหญ่มาจากลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อ เนื่องมาจากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง"

"บ้านประชารัฐ จะเป็นปัจจัยเร่งให้ ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และโอน มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดคึกคักยิ่งขึ้น จากช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ลูกค้ากลุ่มกลาง-ล่าง ยังรีรอตัดสินใจซื้อ และโอน เพราะต้องการรอโครงการบ้านประชารัฐออกมาก่อน"

นอกจากนี้ บิ๊กเนมค่ายอื่นๆ เช่น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ปัจจุบันมีโครงการยูนิโอ จรัญ 3 ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท 1,900 ยูนิต ปีนี้เตรียมพัฒนาคอนโด ยูนิโอ ขายราคา 1 ล้านบาทต้นๆ อีก 3 โครงการ รวมกว่า 3,000 ยูนิต บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) พัฒนาอสังหาฯราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของพอร์ตสินค้า มีคอนโดอยู่ระหว่างขาย 1,300 ล้านบาท ประมาณ 1,000 ยูนิตที่อยู่ในเกณฑ์บ้านประชารัฐ เป็นโครงการพร้อมโอนปีนี้ 4 โครงการ และมีแผนพัฒนาใหม่ตามเงื่อนไขบ้านประชารัฐ มูลค่ารวม 2,000-3,000 ล้านบาท

ส่วนบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างขายราคาต่ำ 1.5 ล้านบาท 7 โครงการ มูลค่า 1,140 ล้านบาท 980 ยูนิต ขณะที่บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) มีคอนโด 800 ยูนิต มูลค่า 1,000 ล้านบาท



กัญสุชญา สุวรรณคร
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 
แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... อ่านต่อ...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... อ่านต่อ...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... อ่านต่อ...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... อ่านต่อ...

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... อ่านต่อ...