ทุ่มแสนล้านขยาย "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" เชื่อม "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" รับเปิดหวูด 1 สถานี

แชร์บทความนี้

รฟม.เริ่มทดสอบระบบแล้ว ! รถไฟฟ้าเชื่อมต่อสถานีฟันหลอ "เตาปูน-บางซื่อ" รับเปิดบริการ ส.ค.นี้ คาดคนใช้สายสีม่วงเพิ่มแน่ เร่งเสนอ ครม.ไฟเขียวแสนล้าน สร้างส่วนต่อขยายถึงราษฎร์บูรณะ เตรียมชงเพิ่มอีก 2 สาย "ส้มตะวันตกและน้ำเงินสาย 4" ชะลอช่วงต่อไปบางปู-ลำลูกกา รอข้อยุติ กทม.ถ่ายโอนทรัพย์สินสายสีเขียว

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน กำลังทดสอบระบบการเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานีจากบางซื่อ-เตาปูน ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) กับสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) คาดว่าจะเปิดบริการได้ระหว่างวันที่ 11-15 ส.ค. 2560 และจะทำให้ผู้โดยสารของสายสีม่วงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1-3.2 หมื่นเที่ยวคน/วัน ที่เพิ่มขึ้น 30% นับจากเปิดบริการวันที่ 6 ส.ค. 2559 

เปิด 1 สถานีคนใช้สีม่วงเพิ่ม

"ตั้งเป้าจะมีคนใช้สายสีม่วงเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสะดวกขึ้น ส่วนค่าโดยสารอยู่ระหว่างพิจารณา จะมีจัดโปรโมชั่นหรือเก็บเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อนั่งสายสีม่วงจากสถานีปลายทางถึงหัวลำโพงสถานีปลายทางของสายสีน้ำเงิน จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท เพราะจะยกเว้นค่าแรกเข้าต่อที่ 2 ให้ ส่วนระบบฟีดเดอร์มารับส่งคนฟรีที่สถานีของสายสีม่วง รอดูผลตอบรับจากการเปิดใช้ 1 สถานีก่อน"

นอกจากนี้ รฟม.อยู่ระหว่างเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ให้กับกลุ่มบีทีเอสเพื่อดำเนินการก่อสร้าง หลังจากออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว รวมถึงส่งมอบพื้นที่ของสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ให้กับผู้รับเหมางานด้านโยธาทั้ง 5 สัญญา เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าไปตามแผนงานที่กำหนด โดยสายสีชมพูกับเหลืองจะสร้างเสร็จในปี 2563 ส่วนสีส้มจะเสร็จในปี 2566 

เร่งต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

นายธีรพันธ์กล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายใหม่ เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ จำนวน 5 สายทาง รวมมูลค่ารวม 253,600 ล้านบาท จะเสนอได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ คือ ส่วนต่อขยายสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท แยกเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ก่อสร้างงานโยธา 70,295 ล้านบาท สิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 1,335 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท และค่า Provisional Sum (ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด) ของงานโยธา 10,672 ล้านบาท

ตามแผนของ รฟม.หลัง ครม.ไฟเขียว จะเดินเปิดประมูลก่อสร้างทันที โดยจะดำเนินการขออนุมัติโครงการจาก ครม.ควบคู่ไปกับการรอผลอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในช่วงราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก ระยะทางประมาณ 5 กม. 

 
ลดขนาดที่จอดรถเหลือ50 ไร่

หลัง รฟม.ขอทบทวนขนาดของจุดจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ยุบเหลือที่คลองบางไผ่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งเดียว และลดขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษกเป็นพื้นที่จอดรถไฟฟ้า ขนาด 50 ไร่ ส่วนจุดจอดแล้วจร มี 2 แห่ง ที่สถานีบางปะกอกกับสถานีราษฎร์บูรณะ

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูนไปตามแนวถนนตัดใหม่ของกทม.(ถนนสายง 8 ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556) แล้วลดระดับลงเป็นทางวิ่งใต้ดิน ผ่านเข้าพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์แล้วเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดปลายทางที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก รวมระยะทาง 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

ขณะที่ระบบจะใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีความจุสูง ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อน 750 โวลต์ กระแสตรงจากรางที่ 3 โดยในปีแรกที่เปิดเดินรถจะใช้รถทั้งหมด 38 ขบวน (จำนวนรถ 4 ตู้ต่อขบวน) คาดการณ์ผู้โดยสารในปีแรกเปิดบริการ มีผู้โดยสาร 477,098 คน-เที่ยว/วัน อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.95% ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 4.59% 


ชะลอสีเขียวลำลูกกา-บางปู

นอกจากนี้ยังมีสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กม. ค่าก่อสร้าง 109,342 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสภาพัฒน์ และสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ระยะทาง 8 กม. ค่าก่อสร้าง 21,197 ล้านบาท รอผลศึกษารูปแบบการลงทุน PPP การเดินรถ

ส่วนสีเขียวต่อขยาย (สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 9.2 กม. เงินลงทุน 12,146 ล้านบาท กับสีเขียวต่อขยาย (คูคต-ลำลูกกา) ระยะทาง 6.5 กม. ค่าก่อสร้าง 9,803 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอความชัดเจนการโอนทรัพย์สินสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ล่าสุดชะลอการเสนอโครงการให้ ครม.พิจารณาออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติ 

จะเร่งรัดเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ให้ ครม.พิจารณาให้ครบทุกเส้นทางภายในปี 2560 เพื่อการก่อสร้างจะได้ต่อเนื่องจากเส้นทางกำลังก่อสร้าง ได้แก่ สายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กม. มีความคืบหน้า 92.39% จะเปิดบริการในปี 2563 สายสีเขียวต่อขยาย (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 18.4 กม. คืบหน้า 30.60% จะเปิดบริการปี 2563 และสีเขียวต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ระยะทาง 12.8 กม. เปิดบริการก่อน 1 สถานีถึงสำโรง จะเปิดใช้ตลอดเส้นทางปี 2561

ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

ซื้อที่ดินทำเกษตร ในวัยเกษียณ ต้องดูอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเพื่อการดำรงชีพ การดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก หรือเพียงแค่งานอดิเรก การซื้อที่ดินเพื ... อ่านต่อ...

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง (พร้อมตัวอย่าง)

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีความสำคัญมาก หลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคาได้เรียบร้อย และอาจจะกำลังวางเ ... อ่านต่อ...

เทคนิคการถ่ายภาพอสังหาฯ ด้วยมือถือ ดึงดูดผู้ซื้อ เมื่อลงประกาศขาย

ประกาศที่มีรูปภาพสวยกว่า มักจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากกว่า ดังนั้น รูปภาพอสังหาฯ จึงมีความสำคัญอย ... อ่านต่อ...

บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝด แตกต่างกันยังไง เลือกแบบไหนดี

ผู้ที่กำลังซื้อบ้าน อาจจะสงสัยว่า บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝดแตกต่างกันยังไง และควรเลือกแบบไหนดี เมื่อซื้ ... อ่านต่อ...

คำศัพท์อสังหาฯ ที่เราควรรู้ เมื่อซื้อขายอสังหาฯ

เมื่อคุณเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดอสังหาฯ อาจจะกำลังมองหา ซื้อคอนโด หรือ ซื้อบ้าน หลังแรกในชีวิต คุณอาจพบเ ... อ่านต่อ...