เปิด Timeline รถไฟฟ้าสารพัดสี ปี 62 ลุ้น 1 สถานี “หมอชิต-เซ็นทรัล”

แชร์บทความนี้

โครงการรถไฟฟ้าอยู่ในแผนแม่บท 10 สาย ระยะทางรวม 464 กม. ที่ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” ประทับตราเมื่อปี 2553 ถึงปัจจุบันใต้ปีกรัฐบาลคสช.กำลังเร่งรัดก่อสร้าง 8 เส้นทาง ระยะทาง 186.1 กม.

5 ธ.ค.เปิดหวูดแบริ่ง-ปากน้ำ

จะเปิดบริการวันที่ 5 ธ.ค. 2561 มีสายสีเขียวต่อขยาย “แบริ่ง-สมุทรปราการ” 13 กม. 9 สถานี ขณะนี้งานโยธาเสร็จ 100% รอ “บีทีเอส-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ติดตั้งระบบไฟฟ้าหลัง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” รับโอนโครงการจาก “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” จ้างบีทีเอสติดตั้งระบบพร้อมกับจ้างเดือนละ 20 ล้านบาท เดินรถ 1 สถานีจากสถานีแบริ่ง-สำโรง เมื่อเดือน เม.ย. 2560

 

ส่วนการเดินรถตลอดเส้นทางที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ แม้ที่ผ่านมา “กทม.” เซ็นจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยาวไปถึงปี 2585 กว่า 1.649 แสนล้านบาท แต่เมื่อ กทม.ถูกบังคับต้องหาเงินชำระหนี้คืน รฟม.โดยเร็ว จึงนำรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดเปิดประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556

 

ภายใต้เงื่อนไขเอกชนผู้ชนะต้องรับผิดชอบหนี้ก้อนโตที่ กทม.ต้องคืนให้ รฟม. รวมเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 1.1 แสนล้านบาท แลกกับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงข่าย 30 ปี

ขณะนี้ “กทม.” กำลังขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง จัดหาแหล่งเงินกู้ พร้อมขอยกเว้นไม่ชำระเงินต้น 10 ปี นำมาเป็นค่าใช้จ่ายช่วง 10 ปีแรก ที่คาดว่าจะขาดทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายคืนหลังปี 2573 หากเซ็นสัญญาไม่ทันสิ้นปีนี้ กทม.ต้องจ้างบีทีเอสเดินรถให้เดือนละ 160 ล้านบาท

 

สายสีน้ำเงินรอปีหน้า

 

ต่อมาเป็นคิวสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 27 กม. 20 สถานี งานโยธาคืบหน้า 99.26% เร็วกว่าแผน 0.35% งานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถคืบหน้า 53.58% รฟม.จะเปิดช่วงหัวลำโพง-บางแค ในเดือน ส.ค. 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในปี 2563 ปีเดียวกัน “กทม.” จะเปิดสายสีเขียวต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” 18.7 กม. 16 สถานี ปัจจุบันงานโยธาทั้ง 4 สัญญา เสร็จ 72.71% เร็วกว่าแผน 3.01% งานระบบไฟฟ้าและเดินรถทางบีทีเอสอยู่ระหว่างดำเนินการ หากสร้างเสร็จเร็ว มีความเป็นไปได้สูงที่ กทม.จะประเดิมเปิดเดินรถช่วง “หมอชิต-เซ็นทรัล ลาดพร้าว” ก่อนในปี 2562 จากแผนจะเปิดในปี 2563

 

บางซื่อ-รังสิตเลื่อนเป็นปี”64

ขณะที่ “สายสีแดง” ช่วง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” ที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” กำลังเร่งรัดจะเปิดให้ได้ตามแผนกลางปี 2563 แต่ดูแนวโน้มอาจจะขยับไปถึงต้นปี 2564 เพราะงานโยธาและติดตั้งระบบไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-รังสิต 26 กม. ยังล่าช้าจากแผน

สัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง คืบหน้า 74.92% ช้ากว่าแผน 1.2% ติดผู้บุกรุกบริเวณหมอชิต สัญญาที่ 2 งานสร้างทางรถไฟและสถานีคืบหน้า 99.44% ช้ากว่าแผน 0.56% ติดส่งมอบพื้นที่สร้างสกายวอล์ก

 

และสัญญา 3 งานระบบคืบหน้า 34.72% ช้าอยู่ 24.51% เพราะเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบ ETCS และเปลี่ยนจาก 3 ทางวิ่งเป็น 4 ทางวิ่ง

 

ส้ม-ชมพู-เหลืองติดเวนคืน

สายสีส้ม “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” 23 กม. 17 สถานี หลังเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเมื่อ ก.พ. 2560 กำลังเร่งรัดการเวนคืนที่แล้วเสร็จ 77.99% ช้า 0.13% ส่วนการก่อสร้าง 6 สัญญา คืบหน้า 13.57% เร็วกว่าแผน 2.95% งานระบบไฟฟ้าและเดินรถจะเปิดให้เอกชน PPP net cost รวมกับสายสีส้มตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” ตามแผนจะเปิดในปี 2566

 

ในส่วนของโมโนเรล 2 สาย 2 สี ที่เจ้าพ่อบีทีเอส “คีรี กาญจนพาสน์” ผนึกพันธมิตรรับเหมาซิโน-ไทยฯ และยักษ์พลังงาน “ราชบุรีโฮลดิ้งส์” ลงขันกันก่อสร้างกว่าแสนล้านบาท หลังจดปากกาเซ็นสัญญาเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 เพิ่งจะได้รับมอบพื้นที่ เริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการวันที่ 29 มิ.ย. 2561

โดยสายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” 34.5 กม. 30 สถานี การเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ 70.28% ช้าอยู่ 0.08% งานโยธาคืบหน้า 3.10% สายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” 30 กม. 23 สถานี เวนคืนแล้วเสร็จ 84.10% เร็วกว่าแผน 7.89% งานโยธาคืบหน้า 5.07% ทั้ง 2 เส้นทางจะเปิดบริการในปี 2564 พร้อมกับส่วนต่อขยายที่กลุ่มบีทีเอสเสนอลงทุนเพิ่มของสายสีเหลืองจาก “แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน” และสายสีชมพูจาก “ศรีรัช-เมืองทองธานี” ซึ่งรอเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติเร็ว ๆ นี้

 

สายสีทองคืบหน้า 2.47%

ขณะที่ “โมโนเรลสายสีทอง” ซึ่งอยู่นอกแผนแม่บทรถไฟฟ้า ล่าสุด กทม.กำลังเร่งสร้างเฟสแรก 1.7 กม.เชื่อมบีทีเอสกรุงธนบรี-สำนักงานเขตคลองสาน โดยมี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนนี้คืบหน้า 2.47% พร้อมเปิดบริการปี 2563

 

สำหรับที่จ่อจะประมูล มี 3 เส้นทาง 51.1 กม. มีสายสีแดงอ่อน “บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน และมักกะสัน-หัวหมาก” 19 กม. สายสีแดงเข้ม “บางซื่อ-หัวลำโพง” 8.5 กม. วงเงิน 44,157 ล้านบาท อยู่ระหว่าง ร.ฟ.ท.จัดทำแผนก่อสร้างให้สอดคล้องกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามแผนเปิดปี 2566สายสีม่วง “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” 23.6 กม. 103,949 ล้านบาท หลัง ครม.อนุมัติเมื่อเดือน ก.ค. 2560 ล่าสุด รฟม.กำลังเคลียร์พื้นที่เวนคืนและเตรียมการประมูล ตามแผนเปิดปี 2567

 

ต่อขยายชานเมืองรอ ครม.

ยังรอเสนอ ครม.อนุมัติ มีส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน “บางแค-พุทธมณฑล สาย 4” 8 กม. 14,790 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost และรอดูเรตติ้งสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จะเปิดใช้ในปี 2562 ก่อน ตามแผนจะเปิดปี 2566

ขณะที่สีเขียวต่อขยายช่วง “สมุทรปราการ-บางปู” 9.5 กม. 7,994 ล้านบาท และส่วนต่อขยาย “คูคต-ลำลูกกา” 6.5 กม. 6,337 ล้านบาท รอดูความชัดเจนรับโอนหนี้จาก กทม. ตามแผนจะเปิดในปี 2566

 

สายสีส้มช่วง “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” 13.4 กม. 109,342 ล้านบาท รฟม.อยู่ระหว่างขออนุมัติงานโยธาและเสนอขออนุมัติรูปแบบการลงทุนสายสีส้มทั้งโครงการรูปแบบ PPP net cost ตามแผนเปิดบริการปี 2568

สายสีแดงต่อขยาย “รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์” 8.9 กม. 6,570 ล้านบาท อยู่ระหว่างคมนาคมขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอให้ ครม.อนุมัติตามแผนจะเปิดปี 2565 เช่นเดียว

กับสายสีแดงต่อขยาย “ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช” 19.5 กม. 17,671 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดปี 2564

 

รอลุ้นโครงการที่เหลือจะได้รับการผลักดันจนครบทุกเส้นทางก่อนเสียงระฆังเลือกตั้งจะดังขึ้น ก.พ. 2562 หรือไม่

ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

วิธีคลายร้อนให้บ้าน ช่วงหน้าร้อนนี้

อากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไท ... อ่านต่อ...

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... อ่านต่อ...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... อ่านต่อ...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... อ่านต่อ...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... อ่านต่อ...