จีนไล่ซื้อโรงเรียน มหาวิทยาลัย ผุดคอมเพล็กซ์สันกำแพง

ยังคงเป็นกระแสที่ร้อนแรงสำหรับกลุ่มทุนจีนที่ตั้งใจปักหมุดลงทุนทำธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดมีแผนจะซื้อกิจการสถาบันการศึกษาของภาคเอกชนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 


เล็งซื้อ 4 โรงเรียนเอกชน

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเข้ามาของทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มทุนจีนได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจ หรือซื้อกิจการในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมการผลิต  


หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายและมีการเปิดประเทศ การขับเคลื่อนของกลุ่มทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์


ล่าสุดพบว่ามีกลุ่มทุนจีนอยู่ระหว่างการทาบทามซื้อกิจการโรงเรียนเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 4 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจการศึกษาครั้งแรก โดยให้ความสนใจในธุรกิจนี้มาก เนื่องจากคนจีนที่มีกำลังซื้อสูงนิยมเดินทางมาเรียนหนังสือในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งระดับประถมฯและมัธยมฯ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติและมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ดีมานด์ด้านที่อยู่อาศัยเติบโตตามไปด้วย


“คนจีนที่มีเงินมีอยู่จำนวนมาก เป็นตลาดค่อนข้างใหญ่มาก คนกลุ่มนี้จะนิยมส่งบุตรหลานมาเรียนที่เชียงใหม่ เพราะเดินทางสะดวก ทั้งการเชื่อมโยงด้านการบิน หรือ direct flight ระหว่างเชียงใหม่กับเมืองต่าง ๆ ในจีนก็บินไปมาสะดวก ใช้เวลาเดินทางแค่ 2-3 ชั่วโมง”


นอกจากจะส่งบุตรหลานมาเรียนในระดับนานาชาติแล้ว ยังพบว่าหลังจบการศึกษาก็มีการต่อยอดให้ทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย เพื่อเชื่อมกับตลาดจีน เป็นลักษณะการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักแหล่งในเชียงใหม่ โดยทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย


กว้านซื้อที่ 400 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีกระแสทุนจีนกลุ่มหนึ่งกำลังเล็งหาซื้อที่ดินในอำเภอสันกำแพงอีก 300-400 ไร่ เพื่อเตรียมพัฒนาโครงการจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยครบวงจร พื้นที่เป้าหมายคืออำเภอสันกำแพงและอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโซนที่ราคาที่ดินยังไม่สูงมากนัก ทั้งมีการเดินทางที่สะดวก ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่


และยังพบอีกว่า กลุ่มทุนจีนได้ขยายการลงทุนด้วยการซื้อธุรกิจอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ประเภทหัตถกรรม (handicraft) ในพื้นที่บ้านถวาย อำเภอหางดง รวมถึงทราบมาว่าทุนจีนมีการซื้อโรงงานหัตถกรรม แล้วนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนเข้ามาผลิตแปรรูป แล้วระบุสินค้าที่ว่าผลิตจากประเทศไทย โดยตีตรา “เมดอินไทยแลนด์” เป็นต้น


รวมถึงการซื้อตัวสล่า (ช่าง) ด้านหัตถกรรมจากเชียงใหม่โดยตรง เพื่อจ้างไปผลิตสินค้าให้ในประเทศจีน ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลให้ธุรกิจทำมือที่เป็นภูมิปัญญาของคนพื้นเมืองจังหวัดเชียงใหม่อาจต้องล่มสลาย หรือสูญเสียอำนาจการต่อรองในตลาด จึงเป็นภาคธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวไม่ให้ธุรกิจถูกกลืนไปอยู่ในมือของทุนต่างชาติ



ผลบวก ผลลบ ลงทุนข้ามชาติของต่างชาติในเชียงใหม่ 


นายจุลนิตย์กล่าวต่อไปว่า การลงทุนของต่างชาติในเชียงใหม่ ในลักษณะการลงทุนข้ามชาติที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีทั้งผลบวกและผลลบ ด้านดีคือเศรษฐกิจของเชียงใหม่จะมีการขับเคลื่อนและได้รับการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น เพราะอาจได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าทั้งวัสดุก่อสร้างในท้องถิ่นและการจ้างงานที่มากขึ้น


ส่วนผลด้านลบ ภาครัฐควรพิจารณาใช้มาตรการด้านกฎหมายและภาษี เข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ รวมไปถึงการควบคุมทุนต่างชาติโดยจำกัดโซน อาทิ กำหนดระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ เหมือนประเทศสิงคโปร์อนุญาตให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว 99 ปี


หลังจากนั้นให้คืนแก่รัฐ หากปล่อยให้ชาวต่างชาติมีการซื้อหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเรื่องปกติก็อาจส่งผลเสียหายในระยะยาวเหมือนชาติถูกกลืนกลาย ๆ


อว.ยังไม่ได้รับการรายงาน

จากกระแสกลุ่มทุนจีนเตรียมจะเข้าซื้อกิจการการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งมาที่กระทรวง อว. หากเป็นเช่นนั้นจริงจะต้องดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย เหมือนกับ 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง


โดยมีต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น มีผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นชาวจีน ทั้งมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด


สำหรับสัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทยตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีสามารถเป็นชาวต่างชาติได้ แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย


ทั้งนี้ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารอย่างไร ต้องถูกกำกับ ควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยอย่างเคร่งครัด โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.), คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล






บุกการศึกษามากว่า 10 ปี

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนจังหวัดนครราชสีมา และนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เผยทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการโรงเรียนในไทยหลายสิบปีแล้ว มีทั้งซื้อและขาย ส่วนผู้ที่ขายเพราะมีสถานะไม่มั่นคง หรือหากยังคงดำเนินกิจการอยู่ก็ไม่คุ้ม


ซึ่งปี 2566 สถานการณ์โรงเรียนเอกชนเริ่มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว แต่อาจมีบางโรงเรียนปิดตัวลง เพราะไปไม่ไหวจริง ๆ แต่ก็มีหลายโรงเรียนเปิดขึ้นมาใหม่


“จีนที่เข้ามาซื้อธุรกิจการศึกษาในไทย อาจซื้อเพื่อรองรับเด็กจีนด้วยกันเอง หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องควบคุมเรื่องระบบวีซ่านักเรียน ซึ่งตอนนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ไม่รู้ว่าถ้ารับเด็กเข้ามาจำนวนมาก ๆ เด็กจะเข้ามาเรียนที่ไหน สถาบันอะไร เรียนหลักสูตรอะไรบ้าง ต้องมีการตรวจสอบควบคุมให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต”


ยอมรับทุนจีนรุกหนัก

แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เปิดเผย ปัจจุบันนักลงทุนชาวจีนเข้ามากว้านซื้อโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่จริง ทั้งยังขยายไปยังจังหวัดเชียงรายด้วย เพราะนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่แถบภาคเหนือลดลงอย่างมาก


เนื่องจากประชากรแรกเกิดมีจำนวนลดลง จึงเป็นเหตุให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งต้องตัดสินใจขายให้กับนักลงทุนจีนแล้วไปทำธุรกิจอื่นแทน


ขณะที่มหาวิทยาลัยในจีนก็มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้เรียน จึงทำให้นักศึกษาชาวจีนต่างเบนเข็มมาเรียนที่ไทย เนื่องจากวัฒนธรรม ประเพณีไม่ต่างกันมาก อีกอย่างเป็นเพราะข้อกฎหมายของไทยเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อกิจการในประเทศได้ ด้วยการใช้นอมินีถือหุ้น หรือถือหุ้นด้วยกันเอง


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดการหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากจะถูกดีไซน์ให้ตอบสนองนักศึกษาชาวจีนโดยเฉพาะแล้ว ยังมีการเปิดหลักสูตร 2 ภาษา (จีน, อังกฤษ) เพื่อดึงดูดนักศึกษารุ่นใหม่ของจีนและประเทศอื่น ๆ ให้เข้ามาเรียนในสาขาบริหารจัดการธุรกิจ และหลักสูตรการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพอีกด้วย




ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้

ลิงค์สำหรับการแบ่งปันบทความบนเว็บอื่นๆ:

คลิก Like เลยเพื่อไม่พลาดกับบทความน่าสนใจอื่นๆ

บทความยอดนิยม

บทความใหม่ล่าสุด

พาชมบ้านทาวน์โฮม ลาดพร้าว 101 เรียบหรูสไตล์ Minimalist Luxury โครงการ เมซอง 168 ลาดพร้าว 101 (Maison 168 LATPHRAO 101)

หาซื้อบ้าน ย่านลาดพร้าว ต้องไม่พลาด "โครงการ เมซอง 168 ลาดพร้าว 101" บ้านทาวน์โฮม 3.5 ชั้น Duplex จอ ... อ่านต่อ...

สิ่งที่ควรทำ ก่อนลงขายบ้านมือสอง

ก่อนที่คุณจะลงขายบ้านหรือคอนโดของคุณในตลาด สิ่งสำคัญคือ การเตรียมการขาย ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายบ้า ... อ่านต่อ...

เอกสารและค่าโอนที่ดินให้ลูก การให้ที่ดินโดยเสน่หา กรมที่ดิน ปี 2566

เจ้าของทรัพย์สินสามารถ "ให้" ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้รับโดยไม่มีค่าตอบแทนได้ เช่นพ่อแม่ให้ที่ดิ ... อ่านต่อ...

ความคืบหน้ารถไฟฟ้า 5 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดเดินรถเร็วสุด

การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย โดยมีโครงการรถ ... อ่านต่อ...

4 สิ่งที่คนส่วนใหญ่พลาด เมื่อตั้งราคาขายบ้าน!

ตั้งราคาขายบ้านเท่าไรดี หรือควรขายบ้านเท่าไร เป็นสิ่งที่คนขายบ้านมักต้องคิดให้ดี เพราะการตั้งราคาขาย ... อ่านต่อ...