''กทม.'' มหานครแห่งการซ่อม สร้าง โหมตอกเข็ม ''รถไฟฟ้า-ถนน-อุโมงค์'' ทั่วกรุง

แชร์บทความนี้

“กรุงเทพมหานคร” ติดโผเป็นเมืองรถติดมากที่สุด และปี 2562 ยังคงเป็นอีกปีที่คนกรุงต้องเผชิญกับปัญหานี้ไปอีก 2-3 ปี แม้ปีที่ผ่านมา จะมีรถไฟฟ้าโหมสร้างและเปิดหวูดไปแล้ว แต่ปีใหม่นี้ก็ยังมีโครงการใหม่ ๆ ต้องสร้างต่อเนื่อง ทั้งถนน อุโมงค์ สะพานทั้งวันทั้งคืน

รถไฟฟ้า 6 สายเดินเครื่องทั่วกรุง

 

ปัจจุบันพื้นที่ “กทม.” มีโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ทั้งสิ้น 6 โครงการที่สร้างบนถนนสายหลัก เช่น พหลโยธิน เพชรเกษม จรัญสนิทวงศ์ เจริญกรุง เจริญนคร ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา ลาดพร้าว รามคำแหง

 

กำลังทยอยเสร็จ มี รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-คูคต” ระยะทาง 19 กม. วงเงิน 58,862 ล้านบาท สร้างเสร็จในปี 2562 พร้อมเปิดบริการในปี 2563

 

ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน “บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค” ระยะทางรวม 27 กม. วงเงิน 82,400 ล้านบาท กำหนดเสร็จทั้งโครงการในเดือน เม.ย. 2563 แต่ในปี 2562 จะเปิดบริการช่วงหัวลำโพง-บางแค ก่อนในเดือน ส.ค. ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เปิดในเดือน เม.ย. 2563

 

สายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” ระยะทาง 34.5 กม. ที่กลุ่มบีทีเอสเร่งรื้อระบบสาธารณูปโภคและสร้างให้เสร็จตามกำหนดในปี 2564 เพราะหากเลยกำหนดมีสิทธิ์ถูก รฟม.ปรับ แถมยังต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มอีก เช่นเดียวกับสายสีเหลือง “ลาดพร้าว -สำโรง” ระยะทาง 30 กม. ต้องเร่งให้เสร็จในปี 2564 สายสีส้มตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” ระยะทาง 23 กม. มีทั้งงานอุโมงค์ใต้ดินและทางยกระดับ ตามแผนต้องเสร็จในปี 2566 และ สายสีทอง ช่วง “กรุงธนบุรี-ประชาธิปก” ระยะทาง 1.7 กม. ที่กลุ่มไอคอนสยามทุ่มสร้างต้องเร่งให้เสร็จในปี 2563

 

เปิดโผ 10 ถนนรถติดหนึบ

จากข้อมูลของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ประเมินว่า ถนนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้ามากที่สุด คือ ลาดพร้าว รามคำแหง และพระราม 9 โดยปกติก็เป็นถนนที่มีรถหนาแน่นนับ 100,000 คันต่อวันอยู่แล้ว ยิ่งมีการปิดการจราจรยิ่งทำให้ติดหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแยกลำสาลี มีปิดสะพานข้ามแยกลำสาลี เพื่อก่อสร้างสถานีลำสาลีของสายสีส้ม

ยังเปิดสถิติ 10 ถนนที่รถติดมากที่สุด ได้แก่ ถนนลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนพระราม 9 ถนนพระราม 4 ถนนสาทรเหนือ และถนนเพชรบุรี

 

กทม.ลุยซ่อมสร้าง 2 หมื่นล้าน

 

ด้าน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุกปี กทม.มีงบประมาณสำหรับซ่อมแซมผิวถนน ทางเท้า รวมทุกสำนักและสำนักงานเขต 50 เขต ไม่น้อยกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท มีทั้งโครงการเล็ก และโครงการขนาดใหญ่ และยังมีงบฯก่อสร้างถนนเป็นโครงการใหญ่ของสำนักการโยธา จำนวน 10 โครงการ ประมาณ 10,000 ล้านบาท จะเริ่มประมูลในเดือน ก.พ.-มี.ค. สร้างในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2562 แล้วเสร็จในปี 2564

อย่างเช่น “ถนนต่อเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน 50” จะเสร็จปี 2564 เป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท “ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง” แนวเส้นทางเริ่มจากช่วงตลาดลาดกระบัง-แยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 3.5 กม. ค่าก่อสร้าง 1,670 ล้านบาท เสร็จปี 2565

 

“ถนนเลียบคลองบางเขน” ด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากปัจจุบันเป็นถนนชั่วคราวจะสร้างใหม่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมพนังกั้นน้ำริมคลอง ระยะทาง 2 กม. ค่าก่อสร้าง 375 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 540 วัน แล้วเสร็จในปี 2563

 

“ขยายถนนแสมดำ” จากพระราม 2-คลองสนามชัย ขนาด 2-4 ช่องจราจร ระยะทาง 3.8 กม. ค่าก่อสร้าง 300 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2563 “ก่อสร้างถนนเทิดราชันเชื่อมถนนเชิดวุฒากาศ” ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมเขื่อนริมคลองตลอดแนว ระยะทาง 1 กม. ค่าก่อสร้าง 321 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2563 “ขยายถนนรามคำแหง 24” พร้อมทางสะพานลอยยกระดับจากแยกถาวรธวัช-หน้ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1 กม. ค่าก่อสร้าง 450 ล้านบาท จะเร่งให้เสร็จ 1 ปี ช่วยบรรเทาการจราจรย่านรามคำแหง

 

ส่วนโครงการอุโมงค์ ปีที่ผ่านมา กทม.เปิดใช้แล้วมีทางลอดกรุงเทพกรีฑาและถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช กำลังก่อสร้างมีสะพานข้ามแยก ณ ระนอง เป็นสะพานยกระดับ 4 ช่องจราจร ความยาว 1,950 เมตร แนวถนนพระราม 3-ถนนพระราม 4 พร้อมสะพานข้ามถนนเชื้อเพลิง 2 ช่องจราจร ความยาว 770 เมตร และแนวถนนรัชดาภิเษก-สุนทรโกษา 2 ช่องจราจร จะเสร็จต้นปี 2564 ขณะที่ต้นปี 2562 จะเปิดใช้ทางลอดจรัญสนิทวงศ์-พรานนก บริเวณแยกไฟฉาย และเริ่มสร้างอุโมงค์ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี

 

“ปี 2561 เป็นจุดที่พีกสุดแล้ว เพราะรัฐสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย แต่มีทยอยสร้างเสร็จ ปีหน้าจะเริ่มคืนผิวจราจร เช่น สายสีน้ำเงินบนถนนเพชรเกษม จรัญสนิทวงศ์ เจริญกรุง จะเสร็จบางส่วนช่วงกลางปี จะช่วยบรรเทาถนนเจริญนครที่กำลังเปิดหน้าดินสร้างสายสีทอง ส่วนถนนลาดพร้าว รามคำแหง ติดเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อรถไฟฟ้เสร็จจะทำให้ดีขึ้นแต่ต้องรอ 3 ปี”

 

ทั้งนี้การที่ กทม.มีโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ มาเติมในพื้นที่อยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นโครงการไม่ใหญ่มาก จึงไม่กระทบต่อการจราจร น่ากังวลคือ ฝุ่นละอองที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า

 

ผุดสารพัดไอเดียทะลวงปัญหา

 

จากปัญหารถติดที่หนัก ล่าสุด “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กำลังศึกษาโครงการจะมาช่วยบรรเทาในอนาคต โดยโฟกัสพื้นที่ 50 ทางแยกจุดวิฤกต เริ่มจากแนวถนนรัชดาภิเษก เช่น หน้าศูนย์วัฒนธรรม แยกอโศก แยกเพชรบุรี ถนนอโศกมนตรี เป็นต้น โดยรูปแบบจะสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอดเหมือนอุโมงค์รัชโยธิน ทางด่วนใต้ดิน เป็นต้น

 

ขณะนี้ผลศึกษาโครงการทางด่วนใต้ดินเสร็จแล้ว รอเสนอให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณา เบื้องต้นมี 3 เส้นทาง ได้แก่

1.สำโรง (แยกบางนา)-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

2.ถนนรามคำแหง-รัชดาภิเษก และ

3.จากแยกเกษตร-วิภาวดีรังสิต

 

ที่พร้อมมากที่สุด คือ เส้นทางแยกบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เพราะไม่ต้องเวนคืนมาก เป็นรูปแบบอุโมงค์ทางลอดลึก 13 เมตร มี 2 ช่องจราจร และด่านเก็บเงิน 2 จุด คือ แยกบางนา และถนนนราธิวาสราชนครินทร์

 

นอกจากนี้ สนข.ยังทำแผนแม่บทแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเตรียมเสนอร่างให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในวันที่ 6 ก.พ. 2562 เบื้องต้นแบ่งการดำเนินการ 2 ช่วง ระยะสั้น 4 ปี ตั้งแต่ 2562-2565 และระยะกลางถึงยาว 8 ปี เริ่มปี 2565-2572

ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... อ่านต่อ...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... อ่านต่อ...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... อ่านต่อ...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... อ่านต่อ...

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... อ่านต่อ...