ธอส.-ออมสิน-เกียรตินาคิน แชร์เทคนิคยื่นกู้ซื้อบ้าน-คอนโด

แชร์บทความนี้

เก็บตกงานสัมมนาประจำปีธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KK จัดสัมมนาประจำปี หัวข้อ "ปรับตัวอย่างไร ในวันที่อนุมัติสินเชื่อไม่ใช่เรื่องง่าย"

โดยมีวิทยากรรับเชิญจาก 2 แบงก์รัฐ ได้แก่"ไลวรรณ ปองเสงี่ยม" รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กับ "วิภาภรณ์ ชัยรัตน์" รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานเสี่ยง ธนาคารออมสิน วิทยากรอีกรายมาจากเจ้าภาพ "ภัทรพงศ์ รักตะบุตร" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าของ KKP สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

ลูกค้าหลัก ธอส. 2-3 ล้าน

 

เริ่มจากตัวแทน ธอส. "ไลวรรณ" เปิดประเด็นการเสวนาด้วยข้อมูลปี 2559 ธอส.ปล่อยสินเชื่อรวม 1.68 แสนล้านบาท ปีนี้วางเป้าเติบโต 6% อยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท "ธอส.อยู่ในตลาด 63 ปี ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างเดียว ถ้าลูกค้ามีความสามารถในการกู้เราไม่ปฏิเสธสินเชื่อแน่นอน"

 

คำถามคือ ทำไมยอดปฏิเสธสินเชื่อหรือรีเจ็กต์เรตจึงได้สูงถึง 40-50% มีคำชี้แจงว่า การพิจารณาสินเชื่อปกติพิจารณาความสามารถผู้กู้เป็นหลัก โดยมีความยืดหยุ่นของรายได้ผู้กู้

 

ดูจากไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้หรือ 33% บางกลุ่มอาจขยับไปถึง 50-80% ขึ้นกับความมั่นคงของรายได้ และช่องทางการชำระหนี้ เช่น สินเชื่อสวัสดิการ หักค่างวดจากเงินเดือน ทำให้มีความเสี่ยงต่ำในการชำระเงินกู้

 

ด้านอาชีพก็เป็นปัจจัยสำคัญ มนุษย์เงินเดือนรายได้มั่นคงแน่นอนถ้าไม่ตกงาน แต่ละปีเงินเดือนจะเพิ่มอย่างน้อย 5% ขณะที่อาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย SME ต้องดูแคชโฟลว์หรือกระแสเงินสด ความสม่ำเสมอของรายได้ที่เข้ามา กับอยู่ในธุรกิจที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า

 

ปัจจุบันสินเชื่อเฉลี่ยรายละ 2-3 ล้านบาทเพราะราคาบ้านปรับแพงขึ้น โดยนโยบายจากรัฐบาลต้องการให้ปล่อยกู้ต่ำกว่านี้ แต่จะเห็นว่าสินค้าบ้านและคอนโดมิเนียมกลุ่มใหญ่ภาคอสังหาริมทรัพย์ราคาต่ำล้านก็น้อยลงแล้ว

 

เมื่อขอให้แนะนำผู้บริโภคในการเลือกแพ็กเกจสินเชื่อตอนนี้ผู้ประกอบการกับแบงก์ต้องช่วยกันแนะนำให้ลูกค้าเลือกตามกำลังความสามารถของเขา อย่าเกินตัว

 

"การกู้เงินซื้อบ้านอยากให้มองละเอียดและระยะยาว สังเกตว่าช่วงแรก ๆ ดอกเบี้ยโปรโมชั่น 0% 3 เดือน ตอนนี้เริ่มกลับมาใช้ MRR (ดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี) ดอกเบี้ยโปรโมชั่นได้ประโยชน์แค่ 3 ปีแรก ระยะต่อไปจะสูงขึ้น"

 

และ "...ในแง่ของแบงก์ ช่วงแรก ๆ แม้ดอกเบี้ยต่ำ แต่การคำนวณงวดผ่อนได้คำนวณทิศทางดอกเบี้ยขึ้นในอนาคตประมาณ 1% เรามองเรื่องป้องกันไม่ให้ลูกค้าเป็น NPL (หนี้เสีย) ถ้าต้องรับภาระดอกเบี้ยขาขึ้น"

 

ออมสินมี "เอ-บี-ซีสกอร์"

 

สำหรับธนาคารออมสิน "วิภาภรณ์" กล่าวว่า ปี 2559 ปล่อยสินเชื่อ 12.7% ของทั้งตลาด มีแผนรักษาสัดส่วนตลาด และมีอัตราเติบโตอยู่อีก

 

การปล่อยสินเชื่อต้องดูประวัติการเป็นหนี้ในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ เช็กเครดิตบูโร มีเอสกอร์, บีสกอร์ เรื่องพฤติกรรม ตอนนี้กำลังพัฒนาซีสกอร์เพิ่มขึ้นมา

 

"เอสกอร์ คือการวิเคราะห์เบื้องต้นว่ารูปร่างหน้าตาเป็นยังไง รายได้ การสมรส มีบุตรกี่คน (ดูภาระค่าใช้จ่าย), บีสกอร์ ดูพฤติกรรม มีการผ่อนชำระสม่ำเสมอไหม ค้างกี่งวดมาก่อน ส่วนซีสกอร์ หรือคอลเล็กชั่นสกอร์ ช่วยในการวิเคราะห์และเก็บหนี้ มีผลต่อการเพิ่มยอดให้กับลูกค้าที่มีประวัติดี การพิจารณาสินเชื่อจะง่ายขึ้น"

 

เกณฑ์การประเมินสินเชื่อดูที่มาของรายได้ มีความมั่นคงในอาชีพ รายได้สม่ำเสมอเป็นปัจจัยสำคัญ และเงินงวดผ่อนชำระมีความสามารถด้วย อยู่ที่ 70 : 30 บางรายอาจได้มากถึง 80%

 

คำถามหลักกรณีแบงก์ออมสิน มีเสียงสะท้อนจากอาชีพอิสระ กิจการรถเข็น กู้ได้ไหม

 

"เรามีลูกค้ากลุ่มนี้เยอะ ให้สาขาไปคอนแท็กต์ว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดสด ไปทำบัญชี สเตตเมนต์ช่วย ดูรายได้ว่ามีความสามารถขนาดไหน ขายของประเภทนี้มีกำไรสุทธิกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะรายได้รับเงินสดเป็นรายได้รวม เรามีโปรแกรมคำนวณให้ เราจะให้ฝากสม่ำเสมอ 6 เดือน ดูสภาพคล่อง ดูกระแสเงินสดว่ามีเพียงพอจ่ายหนี้เราได้ไหม"

 

เฉลี่ยยอดปล่อยกู้กลุ่มนี้ 2-3 ล้านบาท มีจำนวน 1,200 สาขาทั่วประเทศ สามารถรองรับลูกค้าต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี

 

คำแนะนำหากต้องการมากู้ออมสิน ลูกค้ารายย่อยถ้าเตรียมตัวมากู้อยากให้เดินสเตตเมนต์สัก 6 เดือนก่อนมากู้ ดูวงเงินเหมาะสมขนาดไหนในการกู้ ดอกเบี้ยดูฟิกซ์ 3 ปีให้ก่อนรองรับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต เพราะเป็นกฎของแบงก์ชาติด้วย

 

"ถ้ารีไฟแนนซ์ภายใน 3 ปีมีค่าปรับได้ แต่หลังจากนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย เราก็ให้คำแนะนำว่าถ้าดอกเบี้ยจะขึ้น เราบอกลูกค้าทำฟิกซ์เรตก่อนดีกว่าไหม สัก 1% ที่คำนวณให้เงินงวดผ่อนเท่าเดิม หรือผ่อนเร็วขึ้นเพราะกำหนดไว้เผื่อแล้ว อีกเรื่องคือการซื้อประกันความเสี่ยงสินเชื่อ มองว่าเป็นทางเลือกในการช่วยลูกค้าได้

 

สำหรับ KK ดูเหมือนจะมีเรื่องใหม่เกิดขึ้น "ภัทรพงศ์" กล่าวว่า เริ่มทำสินเชื่อรายย่อยหรือโพสต์ไฟแนนซ์ เซตอัพทีมเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปลายปีที่แล้ว พนักงาน 100 คน

 

"การต่อสู้กับแบงก์ใหญ่ เราไม่สู้กับ ธอส.-ออมสิน ในแง่ผลิตภัณฑ์กับนโยบายสินเชื่อไม่ได้แตกต่างกันมาก อยู่ที่การบริหารความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร จะเจอว่ามีเราไม่ปล่อยแบงก์อื่นปล่อย แบงก์อื่นไม่ปล่อยแต่เราปล่อย"

 

จุดเน้น คือ ขั้นแรกดูวัตถุประสงค์การซื้อบ้าน เช่น ซื้อเพื่ออยู่เอง ไม่ใช่หลังที่ 4-5-6 น้ำหนักชัดเจนแล้ว ยังไม่ได้ใช้สกอริ่ง ใช้แค่ดึงเครดิตบูโรมาดู เตรียมพัฒนาเอสสกอร์

 

ขั้น 2 ดูประวัติและความตั้งใจการผ่อนชำระ จากนั้นดูความสามารถในการผ่อนชำระ กลุ่มเป้าหมายโพสต์ไฟแนนซ์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องกี่ล้านขึ้นไป แต่เท่าที่ทำมาเกือบ 1 ปีภาพรวมปล่อยสินเชื่อ 2-3 ล้านบาท จนถึงรายละ 20-30 ล้านบาท สินเชื่อเฉลี่ย 4-5 ล้านบาท ขณะที่เงินกู้ 1 ล้านกว่ายังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่

 

สำหรับข้อแนะนำลูกค้า มองว่าตลาดตอนนี้เป็นทางเลือกลูกค้าและโครงการ สิ่งแรกเลยอยากให้ทำความเข้าใจนโยบายสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ของแต่ละธนาคาร คุยแป๊บเดียวจะรู้เลยว่าสามารถยื่นกู้ที่ไหน (แบงก์ไหน) ได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า เพราะมีความแตกต่างของแต่ละสถาบันการเงิน

 

ลูกค้าตอนนี้ส่วนใหญ่ดูแค่เฉลี่ย 3 ปีเป็นหลัก จากนั้นกะรีไฟแนนซ์ แต่อยากให้ดูไกล ๆ เพราะ MRR, MLR แต่ละแบงก์แตกต่างกัน บวก 6-7% อยู่แบงก์เดิมค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์ยังดีกว่าอีก โดยเป้าสินเชื่อไม่กล้าพูดหลักแสนล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้า 5,000 ล้านบาท โต 5 เท่าจากปีที่แล้ว

 

ไม่เกิน 5 วันรู้ผล

 

คำถามน่าสนใจคือเวลายื่นขอสินเชื่อหรือพรีแอปพรูฟใช้เวลานานแค่ไหน

 

ธอส.บอกว่าทำได้ที่โครงการเพราะมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อของแบงก์พรีแอปพรูฟจากเอกสารวิเคราะห์ได้เบื้องต้น ตัวแปรคือราคาประเมินหลักประกัน ปกติถ้าซื้อบ้านจากโครงการจัดสรร ราคาบ้านได้มาตรฐานอยู่แล้ว จะปล่อยสินเชื่อตามราคาซื้อขายเลย

 

กรณีต้องกลับมาเช็กเครดิตบูโร ถ้าเช็กแล้วประกอบการพิจารณาได้เลย ปกติแจ้งลูกค้าไม่เกิน 5 วันในกลุ่มลูกค้าอาชีพประจำ แต่ถ้าอาชีพอิสระต้องดูสถานที่ประกอบการจริง โดยการอนุมัติสินเชื่อมีเซ็นเตอร์อยู่ที่สำนักงานใหญ่ พระราม 9

 

"เครดิตบูโรที่บันทึกประวัติ 3 ปี ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ในนั้นแล้วเราจะปล่อยไม่ได้ ก็ต้องดูเคสไหน ถ้าเคสนั้นถูกดำเนินการทางกฎหมาย (มีคดีฟ้องร้อง) เราไม่ปล่อยสินเชื่อ แต่ถ้าอยู่ในขั้นประนอมหนี้แล้ว ปิดหนี้เก่าแล้วเราจะให้สินเชื่อ อาจมีเงื่อนไขว่าปิดหนี้เดิม 3-6 เดือนก่อนมาหาเรา"

 

สำหรับนโยบายรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นอสังหาฯ มาตรการที่ได้ผลทำให้คนขอกู้มากที่สุดหนีไม่พ้นการลดหย่อนค่าโอนและจดจำนอง

 

ขณะที่แบงก์ออมสินระบุว่าการอนุมัติสินเชื่อตั้งเป้าภายใน5 วัน ตอนนี้กำลังตั้งศูนย์อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่ออนุมัติอย่างเดียวเลย ลดภาระการทำหน้าที่สาขา เพราะมีงานด้านอื่นทั้งสินเชื่อรายย่อย เอสเอ็มอี ตามหนี้ เงินฝาก มีงานหลายด้านมาก ปีนี้จะตั้งให้ครบทุกภูมิภาค

 

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล ได้ผลมากที่สุดเรื่องลดหย่อนค่าโอนและจดจำนอง อีกโครงการคือบ้านประชารัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย

 

สุดท้าย KK บอกว่า ถ้ามีเอกสารพร้อม ถ้าเจ้าหน้าที่เรากลับมายื่นให้สำนักงานใหญ่ก่อนบ่าย 3 พรุ่งนี้รู้ผลทันทีสำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่ต้องรอประเมินราคาอสังหาฯด้วย ใช้เวลา 2-3 วัน ถ้าอาชีพอิสระ 3-4 วันเพราะต้องไปดูของจริงด้วย

 

การใช้เครดิตบูโร บางโปรดักต์ดู 1-2 ปี บางครั้ง 6 เดือน ดูว่ามีกี่ครั้ง ถ้าเจอหนี้เสีย 3-4 ครั้งก็จะตัดไปเลย

ข้อมูลจาก:  prachachat.net

แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... อ่านต่อ...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... อ่านต่อ...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... อ่านต่อ...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... อ่านต่อ...

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... อ่านต่อ...