ช.การช่าง-บีทีเอส-ซิโนไทยจัดทัพรับลงทุน ชิงเค้กประมูล1.3แสนล้านรถไฟฟ้า3สาย"คมนาคม"เคาะก.พ.59

แชร์บทความนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ธ.ค. 2558 เห็นชอบการควบรวมของ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ผู้รับสัมปทานทางด่วน และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อตั้งบริษัทใหม่ คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะช่วยเพิ่มศักยภาพของบริษัทไทยขยายธุรกิจก่อสร้างและบริหารสัญญาสัมปทานภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 ซึ่งรัฐบาลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP Fast Track รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และระบบค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี


"บริษัทใหม่จะรับโอนสัมปทานทางด่วน 3 สาย คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี และทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน และสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ส่วนโครงการใหม่อยู่ที่ผลคัดเลือก"


ควบรวมทางด่วน-รถไฟฟ้าฉลุย


นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผยว่า วันที่ 28 ธ.ค.นี้จะเชิญผู้ถือหุ้น 2 บริษัทประชุมรับทราบผลของ ครม. และขอจดทะเบียนบริษัทใหม่ให้เสร็จวันที่ 30 ธ.ค.นี้ มีทุนจดทะเบียน 15,285 ล้านบาท รายได้รวม 11,657 ล้านบาท มาจาก BECL จำนวน 8,683 ล้านบาท และ BMCL จำนวน 2,974 ล้านบาท ซึ่ง ช.การช่างจะถือหุ้นในบริษัทใหม่ 30%


"หลังควบรวมบริษัทจะใหญ่ขึ้น มีศักยภาพแข็งแกร่งเพื่อรับงานใหญ่ที่รัฐจะให้เอกชนเข้าร่วม PPP ทั้งระบบรางและถนน เราจะเป็นทั้งผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการ"


ปัจจุบันทางด่วนเริ่มเติบโตน้อยลง เพราะไม่มีการลงทุนใหม่ ในรอบ 20 ปีมีสายเดียว คือ สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก แต่ BECL มีฐานะการเงินดี ขณะที่รถไฟฟ้ามีโอกาสเติบโตสูงจากการที่รัฐบาลมีแผนลงทุนส่วนต่อขยาย เช่น สีน้ำเงิน ส้ม ชมพู เหลือง ม่วงใต้ ไฮสปีดเทรน แต่บริษัทรายได้น้อยและยังขาดทุน ทาง ช.การช่างจึงต้องปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่รองรับการขยายงานการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เมียนมา ลาว เพราะจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)


ช.การช่างลุยธุรกิจครบวงจร


"การลงทุนในสัมปทานระบบสาธารณูปโภคใช้เวลานาน ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าเป็นธุรกิจพื้นฐานสำคัญของประชาชน ที่ผ่านมา ช.การช่างมีรายได้จากการก่อสร้างและลงทุนในบริษัทลูกที่รับสัมปทานสาธารณูปโภค ซึ่งบริษัทใหม่จะเปลี่ยนมิติการทำธุรกิจเป็นบริษัทครบวงจร รับทั้งงานรถไฟฟ้า ทางด่วน และต่อยอดธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้"


นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ กล่าวว่า หลังเปิดใช้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกและรถไฟฟ้าสายสีม่วง กลางปี 2559 จะทำให้สินทรัพย์ของบริษัทใหม่อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 74,767 ล้านบาท คาดว่าปี 2560 บริษัทจะมีรายได้จากทางด่วนใหม่ 1,800 ล้านบาท


BTS เตรียมคน-เงินทุนพร้อม


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมทั้งคนและเงินทุนที่จะเข้าไปลงทุนโครงการรถไฟฟ้าตามที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด ทั้งการเดินรถสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ลงทุนก่อสร้างและเดินรถสายสีชมพูและสีเหลือง การเดินรถขนส่งสินค้ารถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-แหลมฉบัง ซึ่งบริษัทสนใจลงทุนให้รัฐบาลก่อนทั้งก่อสร้างและเดินรถ


"บริษัทมีเงินสดพร้อมลงทุน 2 หมื่นล้านบาท และสิทธิการออกหุ้นกู้อีก 4.8 หมื่นล้านบาท รวม 6.8 หมื่นล้านบาท จะรองรับการลงทุนโครงการเป็นแสนล้านบาท รอดูเงื่อนไขทีโออาร์ที่รัฐบาลจะกำหนด"


ซิโน-ไทยฯดึงจีน-ยุ่นลงขัน


นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จะก่อสร้างเป็นระบบโมโนเรล และให้เอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและเดินรถในสัญญาเดียว


"คุยกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น เพราะเราไม่มีประสบการณ์เดินรถ แต่เชี่ยวชาญงานโครงสร้างรถไฟฟ้า"


รฟม.ทดสอบความสนใจเอกชน


นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการด้านกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือแบบทดสอบความสนใจ ส่งไปยังเอกชนเป็นผู้ผลิตและเดินรถไฟฟ้า รวมถึงผู้รับเหมากว่า 10 บริษัท เช่น บีเอ็มซีแอล บีทีเอส ช.การช่าง อิตาเลียนไทย ซีเมนส์ และบริษัทญี่ปุ่น เพื่อถามความคิดเห็นรูปแบบการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้า 3 สายทาง มูลค่ารวมกว่า 1.31 แสนล้านบาท ได้แก่ สีชมพู 56,725 ล้านบาท สีเหลือง 54,768 ล้านบาท และสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กว่า 2 หมื่นล้านบาท ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจะลงทุนแบบ PPP Fast Track เพื่อสรุปข้อมูลเสนอคณะกรรมการPPP พิจารณาเดือน ก.พ. 2559


source: prachachat.net

แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

ซื้อที่ดินทำเกษตร ในวัยเกษียณ ต้องดูอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเพื่อการดำรงชีพ การดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก หรือเพียงแค่งานอดิเรก การซื้อที่ดินเพื ... อ่านต่อ...

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง (พร้อมตัวอย่าง)

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีความสำคัญมาก หลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคาได้เรียบร้อย และอาจจะกำลังวางเ ... อ่านต่อ...

เทคนิคการถ่ายภาพอสังหาฯ ด้วยมือถือ ดึงดูดผู้ซื้อ เมื่อลงประกาศขาย

ประกาศที่มีรูปภาพสวยกว่า มักจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากกว่า ดังนั้น รูปภาพอสังหาฯ จึงมีความสำคัญอย ... อ่านต่อ...

บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝด แตกต่างกันยังไง เลือกแบบไหนดี

ผู้ที่กำลังซื้อบ้าน อาจจะสงสัยว่า บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝดแตกต่างกันยังไง และควรเลือกแบบไหนดี เมื่อซื้ ... อ่านต่อ...

คำศัพท์อสังหาฯ ที่เราควรรู้ เมื่อซื้อขายอสังหาฯ

เมื่อคุณเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดอสังหาฯ อาจจะกำลังมองหา ซื้อคอนโด หรือ ซื้อบ้าน หลังแรกในชีวิต คุณอาจพบเ ... อ่านต่อ...