เวนคืนทั่วกรุงแก้รถติด ตัดถนน 5 สาย บูมทำเลใหม่

แชร์บทความนี้

 

กทม.ทะลวงที่ตาบอด การจราจรพื้นที่โซนตะวันออก-ตะวันตก ทุ่ม 2.3 หมื่นล้าน เวนคืนย่านวิภาวดี พหลโยธิน บางเขน สุขาภิบาล 5 คลองสามวา เกียกกาย พุทธมณฑลสาย 4 เกษตร-นวมินทร์ เสรีไทย บางนา ตัดถนนใหม่ 6-8 เลน สร้างสะพานข้ามเจ้าพระยา เปิดหน้าดินบูมทำเลใหม่ เชื่อมการเดินทางใจกลางเมืองและปริมณฑล

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ปี 2561 กทม.มีแผนเร่งรัดก่อสร้างโครงข่ายถนนและสะพานเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะโซนตะวันออกและตะวันตกที่เมืองมีการขยายตัวไปมาก จำเป็นต้องสร้างโครงข่ายใหม่ ๆ รองรับ เนื่องจากปัจจุบันระบบการจราจรส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวเหนือและใต้

 

ลุยสร้าง 5 โครงการ

ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ มี 5 โครงการค่าก่อสร้างรวม 3,794 ล้านบาท เตรียมให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่สำรวจปัญหาอุปสรรค เช่น การจราจร รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยให้เคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มสร้างจริง เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามแผนงานมีกำหนดจะทยอยเสร็จในปี 2563-2564 ประกอบด้วย

 

1.สะพานข้ามแยก ณ ระนอง ค่าก่อสร้าง 1,346 ล้านบาท ก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามแยก 4 ช่องจราจร ความยาว 1.95 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการจราจรถนนวงแหวน-รัชดาภิเษก และถนนสายหลัก กำหนดเสร็จปี 2564

 

2.อุโมงค์ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ แนวเส้นทางบริเวณถนนรัชดาภิเษกกับถนนราชพฤกษ์ มีขนาด 4 ช่องจราจร ความยาว 1.5 กม. ค่าก่อสร้าง 924.5 ล้านบาท จะช่วยแก้ปัญหาจุดตัดถนนวงแหวนรัชดาภิเษกและถนนสายหลัก

 

3.ปรับปรุงถนนสามวาเป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 3.2 กม. ค่าก่อสร้าง 183.55 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนให้รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนในพื้นที่เขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา

 

4.ถนนต่อเชื่อมกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑลสาย 2 ค่าก่อสร้าง 1,136 ล้านบาทก่อสร้างเป็นถนน 6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.5 กม. พร้อมทางยกระดับ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.5 กม. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนพุทธมณฑลสาย 2 ขยายสะพานข้ามคลองเป็น 8 ช่องจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรฝั่งธนบุรีให้เชื่อมต่อการจราจรฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ

 

5.ปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์จากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงถนนทวีวัฒนา ค่าก่อสร้าง 204.40 ล้านบาท จะก่อสร้างถนนขนาด 2-4 ช่องจราจร พร้อมขยายสะพานข้ามคลอง 5 แห่ง เป็นทางลัดเชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯกับ นครปฐม และ นนทบุรี อีกทั้งช่วยการจราจรจากถนนบรมราชชนนี และแก้ปัญหาน้ำท่วมบนถนนศาลาธรรมสพน์

 

“ปีต่อ ๆ ไป กทม.มีแผนจะเวนคืนและก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง ถนนใหม่ต่อเชื่อมวิภาวดีรังสิต-พหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตรใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ที่จะได้รับงบประมาณมาดำเนินการหรือไม่ เพราะบางโครงการต้องขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เช่น สะพานเกียกกาย”

 

เวนคืน 2.3 หมื่นล้าน

 

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีงบประมาณ 2562 จะของบฯเวนคืน 23,650 ล้านบาท ก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการต่อเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน 50 วงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 ได้ประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตบางเขนแล้ว โดยเหลือที่ดินเวนคืนอีก 13 แปลง บริเวณติดกับถนนวิภาวดี เช่น ที่ดินของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น ตามแผนจะเริ่มสร้างปี 2562-2564 รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. วงเงิน 3,800 ล้านบาทแยกเป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท ค่าเวนคืน 2,000 ล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มจากถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับอาคารร้านเจ้เล้ง ดอนเมือง จากนั้นตัดผ่านที่ดินบางส่วนของโรงแรมแอร์พอร์ต กรุงเทพ สวิท โฮเทล แล้วตัดตรงถึงถนนพหลโยธินซอย 50 แล้วสร้างสะพานข้ามแยกไปเชื่อมถนนใหม่ที่เชื่อมจากพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช (ถนนเทพารักษ์)

 

ในอนาคตจะเชื่อมกับถนนรัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตรใหม่ ซึ่ง กทม.มีแผนจะก่อสร้างในปี 2562 มีระยะทาง 9 กม. วงเงิน 4,300 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 2,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ 6 ช่องจราจร มีแนวเขตทาง 45-60 เมตร พร้อมสร้างทางต่างระดับ ช่วงต่อเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก

 

“พ.ร.ฎ.เวนคืนบังคับใช้แล้ว กำลังสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดว่าจะมีเวนคืนที่ดิน 500 แปลง และสิ่งปลูกสร้างกว่า 300 รายการ จะของบฯปี 2562 เพื่อเวนคืน ตามแผนจะเริ่มสร้างปี 2562-2567 อนาคต กทม.มีแผนจะต่อขยายจากนิมิตรใหม่ถึงคลองเก้า”

 

เมื่อโครงการสร้างเสร็จจะเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในแนวตะวันออก-ตะวันตก แนวถนนจะคู่ขนานไปกับถนนรามอินทราและถนนเกษตร-นวมินทร์ ช่วยกระจายการจราจรจากถนนวิภาวดีรังสิตสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เพิ่มทางเลือกการเดินทางและแก้ปัญหาจราจรพื้นที่ปิดล้อมเขตบางเขน คลองสามวา และหนองจอก

 

งบฯลงทุนเกียกกายพุ่ง

นอกจากนี้จะเร่งรัดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย หลังล่าช้ามานาน คาดว่าเงินลงทุนโครงการจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการไว้ 11,000 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างสะพาน 4,500 ล้านบาท และเวนคืน 6,500 ล้านบาท

 

เนื่องจากที่ผ่านมา ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% จะส่งผลทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท เป็น 9,000 ล้านบาท โดยมีผู้ถูกเวนคืน 874 ราย และสิ่งปลูกสร้าง 405 หลัง หากโครงการยิ่งล่าช้า งบประมาณเวนคืนจะยิ่งเพิ่มขึ้นมาก

 

รูปแบบโครงการเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับ 4-6 ช่องจราจร เชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดเริ่มต้นอยู่ถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้ ผ่านโครงการบ้านฉัตรเพชร บ้านบางส่วนของชุมชนสงวนทรัพย์ ซอยจรัญฯ 93/1 ร้านอาหารหัวปลาช่องนนทรี และร้านอาหาร Pier92 แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่

 

ผ่านแยกเกียกกาย เมื่อถึงแยกสะพานแดง แล้วเลี้ยวซ้ายใช้ถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือฝั่งตะวันตก หรือถนนกำแพงเพชร 6 แล้วผ่านแยกสะพานดำ ถนนกำแพงเพชร ถนนพหลโยธิน สิ้นสุดบริเวณหมอชิตเก่าที่สวนจตุจักร ระยะทาง 5.9 กม. มีสะพานข้ามแม่น้ำ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 9 แห่ง

 

“สะพานข้ามเจ้าพระยาอีก 1 โครงการที่น่าจะได้เดินหน้าต่อจากสะพานเกียกกาย คือ สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง เพราะไม่มีการเวนคืนที่ดิน ใช้เงินลงทุน 837 ล้านบาท เป็นสะพาน 2 ช่องจราจร พร้อมทางเดิน 480 เมตร สร้างบนแนวถนนราชวงศ์ และถนนท่าดินแดง รอของบประมาณปี 2562”

 

ปัจจุบันกำลังเร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑลสาย 4 ใช้เงินเวนคืน 2,150 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ปัจจุบัน กทม.สร้างช่วงสามแยกไฟฉาย-ถนนกาญจนาภิเษก ระยะทาง 7 กม.เสร็จแล้ว

เร่งเชื่อมเกษตรฯ-บางนา

รวมถึงจะเดินหน้าการก่อสร้างโครงการถนนตามผังเมือง “สาย ช.2” เชื่อมระหว่างเกษตร-นวมินทร์-บางนา ระยะทาง 18.675 กม. วงเงินลงทุน 12,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 8,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 4,000 ล้านบาท เป็นถนนตัดใหม่ 8 ช่องจราจร

 

ปัจจุบันติดเรื่องเวนคืนที่ดินที่ประชาชนบางส่วนคัดค้าน ตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2561-2562 จะเริ่มเวนคืน และก่อสร้างปี 2563-2566

แนวเส้นทางเริ่มจากจุดตัดถนนนวมินทร์กับถนนประเสริฐมนูกิจ ลงมาทางทิศใต้ อยู่ระหว่างถนนนวมินทร์ต่อเนื่องกับถนนศรีนครินทร์และถนนกาญจนาภิเษก มีจุดตัดกับถนนสายหลัก ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 351 (เกษตร-นวมินทร์) ถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ถนนกรุงเทพกรีฑา ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ถนนอ่อนนุช ถึงถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และเชื่อมต่อกับถนนบางนา-บางปะกง พาดผ่านพื้นที่เขตบึงกุ่ม บางกะปิ สะพานสูง ประเวศ และพื้นที่ของ จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันรอ จ.สมุทรปราการยืนยันให้ใช้พื้นที่ และเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน โดยให้สภา กทม.อนุมัติ

ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

ซื้อที่ดินทำเกษตร ในวัยเกษียณ ต้องดูอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเพื่อการดำรงชีพ การดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก หรือเพียงแค่งานอดิเรก การซื้อที่ดินเพื ... อ่านต่อ...

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง (พร้อมตัวอย่าง)

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีความสำคัญมาก หลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคาได้เรียบร้อย และอาจจะกำลังวางเ ... อ่านต่อ...

เทคนิคการถ่ายภาพอสังหาฯ ด้วยมือถือ ดึงดูดผู้ซื้อ เมื่อลงประกาศขาย

ประกาศที่มีรูปภาพสวยกว่า มักจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากกว่า ดังนั้น รูปภาพอสังหาฯ จึงมีความสำคัญอย ... อ่านต่อ...

บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝด แตกต่างกันยังไง เลือกแบบไหนดี

ผู้ที่กำลังซื้อบ้าน อาจจะสงสัยว่า บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝดแตกต่างกันยังไง และควรเลือกแบบไหนดี เมื่อซื้ ... อ่านต่อ...

คำศัพท์อสังหาฯ ที่เราควรรู้ เมื่อซื้อขายอสังหาฯ

เมื่อคุณเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดอสังหาฯ อาจจะกำลังมองหา ซื้อคอนโด หรือ ซื้อบ้าน หลังแรกในชีวิต คุณอาจพบเ ... อ่านต่อ...