คลังจ่อลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% หวังกระตุ้นอสังหาฯ

แชร์บทความนี้

คลังจ่อลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ระยะ 6 เดือนถึง 1 ปี หวังกระตุ้นอสังหาฯ ธอส.ชงบอร์ดคลายเงื่อนไขปล่อยกู้เตรียมวงเงินรองรับหมื่นล้าน ด้านเอกชนเผยขอ 3 ยาแรงช่วยผู้ซื้อโดยตรง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยคาดว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการสรุปเพื่อนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้จะมี เรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย ส่วนค่าจดจำนองจะลดเหลือ 0.01% จากอัตราเดิม 1% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย เป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งทั้ง 2 มาตรการได้เคยทำมาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และอีกครั้งในช่วงปี 2553 ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม 2 ครั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.1% ด้วย แต่ในครั้งนี้จะไม่นำเรื่องนี้มาใช้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังไม่วิกฤต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพราะธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ เพราะมีความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการผ่อนปรนการอนุมัติสินเชื่อนั้น กระทรวงการคลังได้ขอให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พิจารณาผ่อนเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อลง โดยเฉพาะระยะเวลาการกู้ที่เดิมกำหนดอายุไม่เกิน 60 ปี ทำให้ผู้สูงอายุมีระยะเวลาผ่อนสั้นลงจึงต้องจ่ายค่างวดในอัตราที่สูง จนธนาคารไม่สามารถพิจารณาอนุมัติเงินกู้ได้ ดังนั้นจึงขอให้ ธอส.พิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์นี้ โดยขอให้พิจารณารายได้จากเงินบำนาญของผู้กู้ประกอบการพิจารณา รวมถึงเรื่องระยะเวลาการผ่อนชำระเงินกู้ด้วย

นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าวว่า จะนำเรื่องการผ่อนปรนเงื่อนไขปล่อยกู้เสนอไปยังบอร์ด ธอส.ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ พร้อมกันนี้จะขอนโยบายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง โดย ธอส.ได้เตรียมเงินไว้ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ด้วย ส่วนข้อเสนอดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 ปีนั้นมองว่ายังไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ในช่วงนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธอส.ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าระยะเวลานานสุด 30 ปี ซึ่งมากกว่า 80-90% มีอายุสัญญาเงินกู้ประมาณ 20 ปี ส่วนกรณีที่ลูกค้าที่อายุ 55 ปี จะมีสัญญาเงินกู้รวมแล้วอายุของผู้กู้ต้องไม่เกิน 70 ปี ดังนั้น หากต้องการผ่อนคลายเรื่องนี้ก็ต้องขยายระยะเวลาในการกู้ให้ยาวนานมากขึ้น เพื่อให้เงินงวดและค่าดอกเบี้ยที่ผ่อนส่งในแต่ละเดือนลดลง

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้นำเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาต่อภาครัฐจำนวน 3 มาตรการ คือ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน การยกเว้นค่าจดจำนอง และการยกเว้นค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% โดยทั้ง 3 ส่วนต้องให้ตรงกับผู้ซื้อในวันโอน ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้รับส่วนลดจากการซื้อบ้านรวมแล้ว 6.3% เช่น หากซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท เท่ากับว่าได้รับส่วนลดในวันโอนถึง 63,000 บาท เพราะไม่ต้องจ่ายทั้งค่าโอน 2% ค่าจดจำนอง 1% และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%

ซึ่งส่วนนี้เดิมผู้ประกอบการจะเป็นคนจ่ายให้รัฐ แต่ก็ได้คิดรวมไว้ในต้นทุนบ้านแล้ว ซึ่งหากรัฐทำทั้ง 3 มาตรการจะช่วยกระตุ้นได้อย่างดียิ่ง เพราะบ้านในสต๊อกจะลดลงอย่างมากและผู้ซื้อบ้านก็จะนำเงินดังกล่าวมาซื้อสินค้า ทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ และรัฐจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์บทความนี้


Popular Articles


Articles

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... Continue Reading...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... Continue Reading...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... Continue Reading...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... Continue Reading...

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... Continue Reading...