ขยายเก็บภาษีบ้าน-ที่ดินรอบสอง และในปี 64 จะปรับราคาประเมินยกแผง

แชร์บทความนี้

ภาษีที่ดินฯ ยังอลหม่าน มท.วาง 2 แนวทางรับมือ “ขยายเวลา-ผ่อนชำระ” เปิดคัดค้าน 30 วัน เทศบาลรายได้วูบ ใบประเมินถูกตีกลับ ป่าตองภูเก็ตไม่มีเงินจ่าย กทม.แจงมีที่ดิน 2.8 ล้านโฉนด คอนโดฯ 1 ล้านยูนิต บ้าน 3 ล้านหลัง จ่ายได้ถึง 31 ต.ค. คนกลัวเสียค่าปรับ แห่ติดต่อทะลัก คลังย้ำจ่ายช้าไม่เสียเพิ่ม ธนารักษ์เร่งปรับราคาประเมินทุนทรัพย์ใหม่ยกแผง


รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือเวียนด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องแนวทางปฏิบัติขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 หลังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ส.ค. 2563 และผ่อนชำระ 3 งวดได้ในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2563


วาง 2 แนวทางรับมือ

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วนในเวลาที่กำหนด จึงขอให้จังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการ 2 แนวทาง


1.กรณีมีเหตุจำเป็น ทำให้ อปท.ดำเนินการจัดเก็บภาษีไม่ทันภายในเดือน ส.ค. 2563 ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถพิจารณาขยายเวลาการชำระภาษีของประชาชนออกไปได้ รวมถึงระยะเวลาผ่อนชำระภาษีตามความจำเป็น กรณีนี้ต้องดำเนินการก่อน 31 ส.ค. 2563


2.กรณีผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินภาษีของ อปท.ไม่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้าน จึงขอให้ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาทบทวนการประเมินได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี และผู้เสียภาษีได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการคัดค้านการประเมินภาษีก่อนกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน


ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นสามารถพิจารณาขยายเวลาคัดค้านการประเมินภาษีออกไปได้แล้วแต่กรณี แต่หากยื่นเกินเวลาที่กำหนดหรือที่ขยายเวลาออกไป ผู้เสียภาษีย่อมเสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคัดค้านการประเมินภาษี และผู้บริหารท้องถิ่นย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าว


อย่างไรก็ดี ในมาตรา 53 กำหนดว่า การที่ อปท.พบว่ามีการประเมินภาษีผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน ให้ทบทวนการประเมินภาษีให้ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งการชำระภาษีตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นอาจนำคำคัดค้านที่ยื่นเกินเวลานั้นไว้เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาทบทวนการประเมินตามกฎหมาย

กทม. ยืดชำระภาษีที่ดินถึง 31 ต.ค.

กทม.ขยายเวลาการยื่นเสียภาษีที่ดินฯจาก 31 ส.ค. เป็นวันที่ 31 ต.ค. 2563 เนื่องจากได้รับรายงานจากฝ่ายรายได้สำนักงานเขต 50 เขต โดยรวมยังมีผู้ที่ไม่ได้รับใบแจ้งให้มาเสียภาษีที่ดินฯ ดังกล่าว อาจมีการตกสำรวจแต่ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อสำนักงานเขตในพื้นที่ได้


“กทม.มียอดผู้เสียภาษีที่ดินฯปีนี้แยกเป็นที่ดิน 2.8 ล้านโฉนด คอนโดมิเนียม 1 ล้านยูนิต บ้านและที่อยู่อาศัย 3 ล้านหลัง ล่าสุดมีผู้มาเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1-27 ส.ค.รวมแล้วอยู่ที่ 597 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท”


เดือน พ.ย. ส่งใบเรียกเก็บปีหน้า

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า จากหนังสือเวียนของมหาดไทยให้อำนวจท้องถิ่นเลื่อนการยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากจะครบรอบการจัดเก็บภาษีปี 2564 ในเดือน พ.ย.นี้ จึงต้องแจ้งบัญชีผู้เสียภาษีรอบใหม่ จากนั้นเดือน ก.พ.ปีหน้าจะแจ้งอัตราที่เรียกเก็บและให้จ่ายภาษีในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564


“รัฐต้องเก็บภาษีปีหน้าเร็วขึ้น เพราะปีนี้เจอโควิดรัฐบาลจึงขยายเวลาการชำระถึง ส.ค. และขยายอีกครั้งถึง ต.ค.นี้ หากพื้นที่ไหนมีผู้เสียภาษีไม่มาก อาจเลื่อนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ส่วน กทม.มีผู้เสียภาษีจำนวนมากจะเลื่อนถึง ต.ค.นี้”


ทั้งนี้ เพื่อลดความกังวลของประชาชน เรื่องเบี้ยปรับอัตรา 10-40% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ล่าช้า และเงินเพิ่มอีก เดือนละ 1% ของยอดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มกรณียื่นภาษีเกินกำหนด


“ทำให้ช่วงใกล้ ๆ สิ้นเดือน ส.ค.มีผู้มาเสียภาษีมากขึ้น จากปกติวันละ 200 ราย/เขต เป็น 500-600 ราย/เขต เพราะกลัวเสียค่าปรับ”


สำหรับการจัดเก็บภาษีรอบใหม่ปี 2564 จะเก็บเต็มจำนวนตามที่ประเมิน โดยกรมธนารักษ์แจ้งว่าจะปรับราคาประเมินทุนทรัพย์ใหม่ทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะปรับลดภาษี 90% เหมือนปีนี้หรือไม่


ส่วนของ กทม.ในปี 2564 ตั้งเป้ารายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ 7,000-8,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีนี้ที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาทไม่ได้ใบแจ้งไม่ต้องเสีย


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า เนื่องจากการเรียกเก็บและการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การส่งใบประเมินเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปยังเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีที่ตรวจสอบใบประเมินแล้วพบว่าถูกต้อง ผู้เสียภาษีค่อยไปชำระภาษีซึ่งทำได้หลายช่องทาง ในพื้นที่ กทม.ชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือผ่าน QR code ของระบบ online banking ในท้ายใบประเมิน หรือที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ส่วนต่างจังหวัดชำระได้ที่สำนักงานของ อปท.หรือตามช่องทางอื่นที่กำหนด


กรณีที่ประชาชนไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือท้องถิ่นขยาย หรือเลื่อนเวลาการชำระออกไปประชาชนจะไม่เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งมี อปท.จำนวนหนึ่งขยายเวลาชำระออกไปแล้ว และมีอีกหลายแห่งกำลังพิจารณา รวมถึง กทม.ด้วย



สรรพากรผ่อนชำระ 3 งวด

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป การชำระภาษีต่าง ๆ จะกลับมาเป็นปกติหลังจากกรมออกมาตรการเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 31 ส.ค. 2563 เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 


น่านเก็บได้น้อย

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เปิดเผยว่า จากที่เคยจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้ 14 ล้าน/ปี แต่ปีนี้คงเก็บได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท เพราะรัฐลดภาษีให้ 90% จากผลกระทบโควิด-19 อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินการจัดเก็บภาษีใหม่ในพื้นที่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะตัวอำเภอเมืองระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เพราะรูปแบบการประเมินอาคารก่อสร้างล้วนแตกต่างกัน


โชคดีที่กฎหมายมาตรา 14 วรรคแรก ให้เลื่อนและขยายเวลาได้ถ้าจำเป็น ล่าสุดเทศบาลเมืองน่านได้ประกาศเลื่อนไปถึง 30 ก.ย. 2563


“ตอนนี้เจ้าหน้าที่ประเมินงานของเราไม่เพียงพอ ต้องจ้างพนักงานพิเศษเพิ่ม ซึ่งยังไม่มีความชำนาญ ต้องมาเรียนรู้งานใหม่ และกฎหมายลูกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งต้องมาปรับการประเมินใหม่ ตอนนี้เงินที่รัฐจัดเก็บและแบ่งให้ยังมาไม่ครบ เงินรายได้ที่เราจัดเก็บเองยังไม่เข้ามา รวมแล้วไม่ถึงหลักแสน รายรับไม่พอกับรายจ่าย”


ขอนแก่นโวยภาษีวูบ

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อรัฐประกาศให้ท้องถิ่นเก็บภาษีใหม่ ปัญหาตามมามากมายเรียกว่าได้รับผลกระทบทั้งประเทศ จากที่ตั้งเป้าจะเก็บภาษีได้ 120 ล้านบาทก็หายไปทันที 100 กว่าล้านบาท เหลือส่วนที่เก็บได้ 10% คือ 12 ล้านบาท


แล้วเมื่อมาเก็บจริง ๆ ก็มีเงื่อนไขผ่อนปรน สรุปจัดเก็บได้แค่ 3-4 ล้านบาท ทำให้โครงการที่ต้องพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องชะลอโครงการถึง 80-90% และต้องดึงเงินสะสมมาจ่ายในโครงการเหล่านี้ด้วย รวมแล้วเฉพาะเทศบาลนครขอนแก่นได้รับผลกระทบร่วม 200 ล้านบาท จากการประเมินก็กระทบถึงปี 2564 ด้วย


นครสวรรค์เงินหมด

นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศบาลนครสวรรค์ เปิดเผยว่า นครสวรรค์จะมีผู้เสียภาษีดังกล่าว 40,000 ราย จากที่เคยเก็บได้ 90 ล้านบาท คาดว่าปีนี้เก็บได้ 4 ล้านบาท งานพัฒนาต่าง ๆ คงต้องหยุดโครงการและมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเดือน คิดว่าเทศบาลทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกัน


ตอนนี้ได้ส่งจดหมายไปยังผู้เสียภาษีทั้งหมดแล้ว แต่จดหมายบางส่วนถูกตีกลับ 7,000-8,000 ราย เพราะไม่มีคนรับเอกสาร ต้องให้พนักงานลงพื้นที่ไปส่งเองตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพราะแบกภาระค่าไปรษณีย์ไม่ไหว ซึ่งจ่ายไปไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทแล้ว


ภูเก็ตไม่มีเงินจ่าย

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีป่าตอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ปีนี้คงจัดเก็บภาษีที่ดินฯได้ไม่เกิน 25 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 50% เพราะคนที่ต้องเสียภาษียังไม่มีเงินมาชำระ และเมื่อส่งเอกสารไปแล้วก็ถูกตีกลับจำนวนมาก เพราะคนที่ต้องเสียภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่เมืองป่าตอง


“เทศบาลทำเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังกรมส่งเสริมท้องถิ่น และนำเรื่องส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อให้รัฐบาลช่วยชดเชยจำนวนเงินที่หายไป อย่างหาดป่าตองเคยเก็บได้กว่า 380 ล้านบาท”



ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


Popular Articles


Articles

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... Continue Reading...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... Continue Reading...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... Continue Reading...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... Continue Reading...

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... Continue Reading...