ปิดถาวร ถ.กำแพงเพชร 3 เชื่อม 3 สวน เป็น ‘อุทยานสวนจตุจักร’

แชร์บทความนี้

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่ศูนย์เยาวชนสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นางวนิดา เจียงไพศาลกุล ผู้ช่วยปลัดกทม. นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางอารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ “อุทยานสวนจตุจักร” พร้อมนั่งรถกอล์ฟขนาดเล็กเยี่ยมชมบริเวณโดยรอบสวนรถไฟ

นายจักกพันธุ์ เปิดเผยว่า สำหรับอุทยานสวนจตุจักร เกิดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่รล 0005/2560 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 โดยหากรวมตลาดนัดจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เป็นสวนจตุจักรก็จะสมพระเกียรติ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และวันที่ 16 กันยายน 2546 มีมติให้กทม.รวมพื้นที่สาธารณะทั้ง 3 แห่ง โดยแต่ละสวนประกอบด้วย

1. สวนจตุจักร มีพื้นที่ขนาด 155 ไร่

2. สวนสมเด็จฯ 196 ไร่ และ

3. สวนรถไฟ 375 ไร่

 

หากรวมทั้ง 3 สวนได้จะมีพื้นที่รวม 727 ไร่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพื้นที่ทั้ง 3 สวนดังกล่าวคืนให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล พร้อมพระราชทานนามว่า “อุทยานสวนจตุจักร” ตั้งแต่นั้นมา สำนักสิ่งแวดล้อมกทม.พยายามออกแบบทางเชื่อมสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง และในปี 2559 กทม.ได้รื้อแบบเดิมเพื่อสานต่อโครงการดังกล่าว แต่ปรากฎว่าแบบเดิมต้องล้อมต้นไม้ภายในสวนสาธารณะกว่า 1,000 ต้นเพื่อก่อสร้างทางเชื่อมเป็นสะพานข้าม ทำให้กทม.ต้องปรับแบบ เพราะไม่เห็นด้วยต้องล้อมย้ายต้นไม้จำนวนมาก

 

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า เมื่อศึกษารายละเอียดหลายครั้งจนได้ข้อสรุปในรูปแบบทางเชื่อม เคยมีแนวคิดทำทางเชื่อมเป็นอุโมงค์ แต่ใช้งบประมาณมาก จึงสรุปว่ากทม.จะปรับแบบเป็นทางราบยกระดับ โดยทำทางเชื่อมจุดที่ 1 ระหว่างสวนรถไฟและสวนจตุจักร จะเป็นทางยกระดับพื้นถนนกำแพงเพชร 3 เช่นเดียวกับทางเชื่อมจุดที่ 2 ระหว่างสวนจตุจักรและสวนสมเด็จฯ เป็นทางราบยกระดับบนพื้นถนนกำแพงเพชร 3 และทางเชื่อมจุดที่ 3 ระหว่างสวนสมเด็จฯ และสวนรถไฟ เป็นรูปแบบสะพานไม้ข้ามคูน้ำ ซึ่งมีอยู่เดิมให้สวยงาม พร้อมติดตั้งเครื่องหมายจราจรและไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

 

ทั้งนี้ กทม.ได้ว่าจ้าง บริษัท กนกพลก่อสร้าง แอนด์คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงิน 16.44 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ซึ่งได้ปิดถนนกำแพงเพชร 3 เพื่อทำการก่อสร้าง สำหรับภาพรวมก่อสร้างปัจจุบันคืบหน้าร้อยละ 70 โดยทางเชื่อมจุดที่ 1 จะกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 16 กรกฎาคม ส่วนทางเชื่อมที่ 2 จะกำหนดเสร็จ 30 มิถุนายน และทางเชื่อมที่ 3 จะแล้วเสร็จ 22 มิถุนายนนี้

 

“ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อขอปิดถนนกำแพงเพชร 3 อย่างถาวร ไม่ให้รถแล่นผ่าน เพื่อให้ถนนเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสวนจตุจักร คาดจะยื่นเสนอต่อ คจร.ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนการพิจารณาว่าสมควรหรือไม่นั้นขึ้นอยู่คจร. เพราะหากรวมได้คาดจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สวนรถไฟเปิดให้บริการมาเป็นเวลานาน ทำให้ทางเดินภายในชำรุด อาทิ ผิวถนนแตก ทางเดินไม่เรียบ ฯ ผู้สัญจรไม่ได้รับความปลอดภัยและเกิดอุบัติเหตุ ขณะนี้ ยังได้ว่าจ้าง บริษัท ไทยเสลอรี่ จำกัด ภายในวงเงิน 15.75 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงทางเดิน-วิ่ง ความยาว 5,700 เมตร (ม.) โดยเริ่มต้นสัญญาก่อสร้างวันที่ 1 มิถุนายน 2561 และจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 กันยายน ขณะนี้ ผู้ว่าจ้างได้ทำการปิดทางเดิน-วิ่งเป็นช่วงๆ เพื่อก่อสร้าง ไม่ให้กระทบต่อประชาชน ซึ่งเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดให้การก่อสร้างทางเดิน-วิ่งแล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคม

 

 

เมื่อถามว่าหากปิดเส้นทางถนนกำแพงเพชร 3 จะกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจรและเดินเที่ยวตลาดนัดเจเจกรีน ภายในสวนสมเด็จฯ หรือไม่ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบ เพราะศึกษามาแล้ว พบว่า ถนนเส้นนี้ไม่มีรถวิ่งมากนัก สำหรับพื้นที่ตลาดนัดเจเจกรีน ขนาด 20 ไร่ เป็นพื้นที่ที่กทม.ได้ทำการเช่าจากมูลนิธิสวนสมเด็จพระเจ้าสิริกิติ์และให้ตลาดนัดเจเจกรีนเช่าต่อ ขณะนี้ สัญญาเช่าตลาดจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม โดยกทม.จะไม่ขอต่อสัญญาเช่าอีก เนื่องจากจะขอพื้นที่คืนและคืนให้แก่มูลนิธิฯ ในการจัดทำสวนสาธารณะ เพราะเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในสวนสมเด็จฯ

 

“ดังนั้น แนวคิดหลักในการรวมสวน คือ ด้านกายภาพ ต้องคงสภาพของสวนสาธารณะปัจจุบันให้ได้มากที่สุด โดยใช้งบประมาณไม่มาก ขณะเดียวกัน ต้นไม้ทุกต้นที่ให้ร่มเงาจะต้องอยู่ โดยไม่มีการล้อมย้าย และในอนาคตหากนำพื้นที่ตลาดเจเจกรีนมารวมได้ กทม.จะจัดกิจกรรมการวิ่งมินิมาราธอนระยะทาง 10.5 กิโลเมตร โดยที่วิวไม่ซ้ำกัน และภายหลังรวม 3 สวนได้แล้ว กทม.จะเดินหน้าปรับปรุงสวนสมเด็จย่า 84 พรรษา ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว พื้นที่ 6 ไร่ โดยใช้สะพานลอยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสวนจตุจักรและสวนสมเด็จย่า หากสำเร็จจะเป็นการรวม 4 สวนในชื่อ อุทยานสวนจตุจักร ซึ่งทั้งหมดจะมีพื้นที่รวมถึง 810 ไร่ใจกลางเมือง” นายจักกพันธุ์ กล่าว

 

ด้านนางอารมย์ กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อมได้ออกแบบการปรับปรุงพื้นที่ตลาดนัดเจเจกรีนเสร็จแล้ว ภายใต้แนวคิด “จากภูผาสู่มหานที” ขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอเรื่องต่อพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างสวนให้เชื่อมต่อกันทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสวนสมเด็จย่าฯ ปัจจุบันมีสภาพสวนมีหลายส่วนต้องปรับปรุง ทั้งทางเดิน การปลูกต้นไม้และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง เพราะสวนเปิดใช้งานมานานและเสื่อมโทรมตามเวลา ขณะเดียวกัน ช่วงกลางวันจนถึงช่วงเย็นมักพบกลุ่มคนนำเสื่อมาปูเพื่อเปิดให้บริการดูดวงจำนวนมาก หากมีปรับปรุงสวนสมเด็จย่าฯ ขึ้น ผู้รับจ้างจะดำเนินการปิดพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดเพื่อปรับปรุงสวนสาธารณะให้สวยงาม อาจเป็นการปิดตำนานหมอดูสวนสมเด็จย่าฯ

 

ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


Popular Articles


Articles

วิธีคลายร้อนให้บ้าน ช่วงหน้าร้อนนี้

อากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไท ... Continue Reading...

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... Continue Reading...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... Continue Reading...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... Continue Reading...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... Continue Reading...