อัพกรุงเทพฯ โซนเหนือรับรถไฟฟ้า 3 สาย พัฒนาย่านสะพานใหม่ปั้นศูนย์ชุมชนเมือง

แชร์บทความนี้

ผังเมือง กทม.อัพโซนย่านสะพานใหม่ ฮับพาณิชยกรรม แนะผู้ประกอบการพัฒนามิกซ์ยูสรับรถไฟฟ้า 3 สาย 3 สี “แดง-เขียว-ชมพู” ปั้นศูนย์ชุมชนเมือง แหล่งงาน ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ดันตลาดยิ่งเจริญ แลนด์มาร์กใหม่ ขึ้นตึกสูงเป็นตลาดติดแอร์ สถานีวัดพระศรีฯจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง คิวต่อไปปักหมุด “มีนบุรี” คัด 53 จุดตัดรถไฟฟ้า ผุด TOD นำร่อง 5 สถานี บางหว้า บางแค บ้านทับช้าง

 

ขณะนี้ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างยกร่างแผนพัฒนาโครงการศูนย์พาณิชยกรรมเมืองย่านสะพานใหม่ จะครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม พื้นที่รวม 146 ตร.กม. หรือ 91,488 ไร่ โดยจะโฟกัสพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟฟ้า 3 สถานี ได้แก่ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีสายหยุด และสถานีสะพานใหม่ พัฒนาในรูปแบบพาณิยชกรรมโดยรอบสถานี หรือ Transit-oriented development (TOD) นางชูขวัญ นิลศิริ ผู้อำนวยการกองวางผังพัฒนาเมืองกล่าว

 

เพื่อให้สอดรับกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ปลายปี 2563 โดยกำหนดให้ย่านสะพานใหม่เป็นศูนย์ชุมชนชานเมืองและเพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับภาคเอกชนนำไปดำเนินการพัฒนา ส่วนภาครัฐจะวางแผนในเรื่องระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นหลังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดให้บริการในปี 2563-2564

 

ผุดศูนย์ชุมชนเมืองแห่งใหม่

 

สะพานใหม่ ในผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับใหม่ กำหนดไว้เป็นศูนย์ชุมชนชานเมืองที่อยู่ในโซนเหนือของกรุงเทพฯ เพราะเป็นพื้นที่มีศักยภาพ โดยขยายพื้นที่สีแดงที่เป็นพาณิชยกรรม และสีส้มที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางให้มากขึ้น เพราะมีรถไฟฟ้าผ่าน 3 สาย สีแดงทางถนนวิภาวดีฯ สีเขียวแนวถนนพหลโยธิน สีชมพูมาจากแครายไปรามอินทรา ยังมีสนามบินดอนเมืองที่จะมีการพัฒนาเพิ่ม ดังนั้น พื้นที่จึงมีศักยภาพจะพัฒนาเป็นจุดการปลี่ยนถ่ายการเดินทางและศูนย์กลางพาณิชยกรรมตอนเหนือ”

 

นางชูขวัญกล่าวอีกว่า แต่สภาพพื้นที่ปัจจุบันจะเป็นการพัฒนารูปแบบเก่า ๆ มีตลาดยิ่งเจริญเป็นแลนด์มาร์ก เป็นตลาดสดธรรมดา การพัฒนา 2 ข้างทางเป็นตึกแถว มีคอนโดมิเนียมขึ้นมาบ้างแต่อยู่ในแนวสายสีชมพูย่านถนนแจ้งวัฒนะ และรามอินทรา ส่วนย่านพหลโยธินจะมีบริเวณจุดเชื่อมต่อกับสีชมพูที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และมีบริเวณสถานีสายหยุด จึงต้องวางแผนให้เกิดการพัฒนาให้ใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพสมกับเป็นย่านศูนย์การคมนาคมของพื้นที่โซนเหนือ

 

“ต้องวางผังกำหนดรายละเอียดเป็นตัวชี้แนะให้เอกชน เพราะไม่งั้นจะพัฒนาแต่คอนโดมิเนียมไปตามรถไฟฟ้าอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่จริง ๆ แนวคิดต้องการให้เกิดมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์และสำนักงานรวมอยู่ด้วยในรูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและพาณิชยกรรมใน 3 สถานีนี้ เพื่อคนจะได้ไม่ต้องมูฟไปทำงานใจกลางเมือง ไม่เกิดปัญหาการจราจร มลพิษ”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น การเชื่อมต่อของระบบถนนในซอย มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้ากับสถานีรถไฟฟ้า เช่น สกายวอล์ก เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางเดินริมน้ำ ทางจักรยาน อาจจะออกแบบมีจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง มีที่จอดรถสาธารณะและจักรยาน

วัดพระศรีฯจุดเปลี่ยนถ่ายเดินทาง

 

นางชูขวัญกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาในส่วนของสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเพราะเชื่อมกับสายสีชมพู จะเป็นโหนดใหญ่กว่าสถานีอื่น แบ่งพัฒนาเป็น 7 โซน ได้แก่ 

  1. พื้นที่ส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ และส่วนแสดงพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 8 สวนและพื้นที่สระน้ำ จุดที่พักวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทางเดินเชื่อมต่อไปสู่วัดพระศรีมหาธาตุ ทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้า และจุดเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า
  2. พื้นที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น ร้านค้า จุดจอดรถแท็กซี่ สวนและพื้นที่สระน้ำ จุดรอวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 
  3. พื้นที่บริการชุมชน เช่น ลานอเนกประสงค์ พลาซ่าเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า 
  4. พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สวนสาธารณะ ทางเดินลอยฟ้า 
  5. พื้นที่นันทนาการ เช่น พื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่กิจกรรมชุมชน ทางเดิน และทางจักรยานลอยฟ้า 
  6. ปรับปรุงพื้นที่สำนักงานเขตบางเขน เช่น อาคารจอดแล้วจร และ 
  7. พื้นที่เชื่อมต่อเส้นทางโครงการ เช่น สวนลอยฟ้า ทางเดินลอยฟ้า เป็นต้น

 

สายหยุดแหล่งที่อยู่อาศัย

 

ส่วนสถานีสายหยุด จะเป็นย่านอยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง ไม่ใช่เชิงพาณิชยกรรม เนื่องจากมีถนนตัดใหม่ และมีคอนโดมิเนียมพัฒนาโดยรอบสถานี โดยวางคอนเซ็ปต์การพัฒนาจะเป็นสเตชั่นพลาซ่าหรือพื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรเชื่อมต่อคนอยู่อาศัยเข้าไปทำงานในเมือง มีการพัฒนาภูมิทัศน์ มีทางจักรยาน ถนนสายหลักสายรองให้เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้สะดวกมากขึ้น

 

ขณะที่สถานีสะพานใหม่จะเป็นย่านพาณิชยกรรมหลักและรอง เนื่องจากใกล้ตลาดยิ่งเจริญที่มีแผนจะปรับปรุงอยู่แล้ว มีการสร้างสกายวอล์กเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้า จะเสนอแนะให้สร้างอาคารสูงเหมือนตลาดติดแอร์ เพิ่มฟังก์ชั่นอย่างอื่นไม่ใช่ตลาดสดอย่างเดียว มารวมกันเป็นเชิงพาณิชย์อย่างอื่นที่อยู่ฝั่งตรงข้าม พบว่ามีที่ดินแปลงใหญ่เสนอจะพัฒนาเป็นพลาซ่าและพาณิชยกรรม ส่วนตึกแถวเดิมจะปรับปรุงให้ทันสมัย และเพิ่มกิจกรรมรองรับกับรถไฟฟ้า เช่น ร้านค้า ร้านกาแฟ มินิมาร์ต เพื่อให้เป็นแหล่งงานในอนาคต

 

ปลดล็อกดอนเมืองสร้างเกสต์เฮาส์

 

“ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตอาจจะพัฒนาอะไรได้ไม่มาก เพราะอยู่ท้ายสนามบินดอนเมือง ติดแนวขึ้น-ลงของสนามบิน ห้ามสร้างตึกสูง ในผังเมืองรวมกำหนดเป็นพื้นที่สีเหลืองหรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ส่วนฝั่งตรงข้ามช่วงสนามบินดอนเมืองย่านสรงประภาและตลาดดอนเมืองเก่า มีผู้ประกอบการโรงแรมขอปรับสีผังเมืองจากสีเหลืองเป็นสีแดง พาณิชยกรรมจะพัฒนาเป็นเกสต์เฮาส์รองรับผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินดอนเมืองสายสีแดง และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

 

นางชูขวัญกล่าวอีกว่า สำหรับย่านหลักสี่บริเวณศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ได้ขยายพื้นที่สีส้มตรงถนนแจ้งวัฒนะรองรับสายสีชมพู ส่วนย่านทุ่งสองห้องได้อัพโซนจากสีเหลืองเป็นสีส้มให้สามารถพัฒนาอาคารขนาดใหญ่เกิน 10,000 ตารางเมตรได้ แต่ต้องอยู่ติดถนนกว้าง 30 เมตร หรือรัศมี 500 เมตรสถานีรถไฟฟ้า

 

ปีหน้าบูมมีนบุรีรับสีส้ม-ชมพู

 

สำหรับถนนรามอินทราปรับจากพื้นที่สีเหลือง ได้ขยายพื้นที่สีแดงและสีส้มในรัศมี 1 กม.ตลอดแนว เปิดการพัฒนาให้รับกับสายสีชมพู เช่น เซ็นทรัล พลาซา รามอินทรา จากสีส้ม ได้ขยายสีแดงเพิ่ม

“ปีนี้วางผังย่านสะพานใหม่เสร็จ ปีหน้าจะศึกษาวางผังย่านมีนบุรีที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีชมพู และสีส้ม อาจจะขยายพื้นที่มายังสถานีตลาดมีนบุรีด้วย ซึ่งในผังเมืองใหม่กำหนดมีนบุรีเป็นศูนย์ชุมชนเมืองและปรับพื้นที่จากสีเหลืองและสีเขียวลายบางส่วนมาเป็นพื้นที่สีแดง เปิดการพัฒนา”

 

นำร่อง TOD 5 สถานี

 

นอกจากนี้ จะคัดจุดตัดรถไฟฟ้า 53 สถานี พัฒนาเป็น TOD นำร่อง 5 สถานี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง เข้า-ออกไม่สะดวก เช่น สถานีบางหว้า เป็นจุดตัดบีทีเอสกับสายสีน้ำเงิน สถานีเดอะมอลล์ บางแค เป็นสถานีปลายทางสายสีน้ำเงิน สถานีบ้านทับช้าง ของแอร์พอร์ตลิงก์ที่ต้องวางผังระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น

ข้อมูลจาก: prachachat.net
แชร์บทความนี้


Popular Articles


Articles

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... Continue Reading...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... Continue Reading...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... Continue Reading...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... Continue Reading...

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... Continue Reading...