สายสีเขียวเชื่อมปากน้ำ เร็วกว่าแผน ลุ้นเปิดในปี 2560

แชร์บทความนี้

ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ระยะทาง 12.8 กม. เป็นรถไฟฟ้าอีกเส้นทางที่น่าจับตา ว่าจะสามารถขยับแผนการเปิดหวูดให้บริการเร็วขึ้นก่อนกำหนด จากเดือนก.พ. 2563 เป็นต้นปี 2560 พร้อมกับการก่อสร้างที่แล้วเสร็จหรือไม่ ในเมื่องานโครงสร้างเสร็จแล้ว การจะปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ถึง 3 ปี คงไม่เกิดประโยชน์ เพราะ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" ต้องควักเงินมาดูแลรักษารางอีก


ถึงโครงการนี้จะยกให้กับ "กทม.-กรุงเทพมหานคร" แล้ว โดย กทม.ยอมจ่ายค่าก่อสร้าง 17,091 ล้านบาทให้กับ รฟม.หลังสร้างเสร็จ เพื่อแลกกับสิทธิการบริหารจัดการเดินรถ แต่ดูเหมือน "รฟม." ยังรี ๆ รอ ๆ จะขอดึงกลับมาบริหารจัดการเอง ส่งผลทำให้จนถึงขณะนี้การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง "คมนาคม-กทม." จึงยังไม่ลงล็อก


งานนี้รอดูการตัดสินใจของ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เจ้ากระทรวงคมนาคม จะพิจารณายังไงสำหรับการคัดเลือกเอกชนมาเดินรถ วงเงิน 9,120 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าสายนี้เร็วขึ้น   



ทั้งนี้ ไม่ว่าโครงการจะอยู่ภายใต้การดูแลของ "รฟม." หรือ "กทม." ยังไงหนีไม่พ้น
"บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ" จะเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถสายนี้ เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่องกับบีทีเอสสายเดิมที่บีทีเอสซีรับสัมปทานจาก กทม. ที่ต่อเชื่อมกับสถานีแบริ่ง โดยผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ว่ากันว่า หาก "บีทีเอสซี" ได้สัมปทาน อาจจะเห็นการเปิดใช้บริการเร็วขึ้นจากปี 2563 อาจจะเป็นปี 2560-2561 เนื่องจากบริษัทมีขบวนรถเดิมที่พร้อมจะเดินรถไปถึงสมุทรปราการได้อย่างสบาย


"สุรพงษ์ เลาหะอัญญา" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทบีทีเอสซี กล่าวว่า หากกทม.และรฟม.ได้ข้อยุติให้บริษัทเป็นผู้เดินรถในเดือนเม.ย.นี้ บริษัทสามารถทดสอบการเดินรถได้ภายในปลายปีนี้ถึงต้นปี2560


ขณะที่ความคืบหน้างานก่อสร้างงานโยธาและระบบรางมี "บมจ.ช.การช่าง" เหมางานทั้ง 2 สัญญา หลังตอกเข็มต้นแรกเดือนมี.ค. 2555 ทำผลงานเร็วกว่าแผน ณ สิ้น ธ.ค. 2558 ผลงานอยู่ที่ 75.53% เร็วกว่าแผน 5.66%


แยกเป็นสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา คืบหน้า 75.23% เร็วกว่าแผน 6.79% สัญญาที่ 2 งานระบบราง คืบหน้า 77.47% ช้าจากแผน 1.84% ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นรถไฟฟ้าสายที่ 2 ต่อจากสายสีม่วงช่วง "บางซื่อ-บางใหญ่" ที่เชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯกับปริมณฑล


แนวเส้นทางจุดเริ่มต้นต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายเดิมที่สถานีแบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ ปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงจุดตัดกับถนนวงแหวนด้านใต้ แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิทข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตก และลดระดับเพื่อเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง


มีสถานีทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่

1.สถานีสำโรง ตั้งอยู่ระหว่างสะพานข้ามคลองสำโรงกับแยกเทพารักษ์

2.สถานีปู่เจ้าสมิงพราย ตั้งอยู่บริเวณซอยสุขุมวิท 115

3.สถานีเอราวัณ ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิทซอย 7

4.สถานีโรงเรียนนายเรือ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนายเรือ

5.สถานีสมุทรปราการ ตั้งอยู่หน้าวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ

6.สถานีศรีนครินทร์ ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองบางปิ้ง

7.สถานีแพรกษา ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนสมุทรปราการ

8.สถานีสายลวด ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 45 และ

9.สถานีเคหะสมุทรปราการ ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 50


ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุง อยู่บนพื้นที่ 123 ไร่หลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ขณะที่อาคารจอดแล้วจรจะมี 1 แห่ง ที่บริเวณสถานีปลายทางเคหะสมุทรปราการ ริมถนนสุขุมวิท เนื้อที่18 ไร่ สามารถจอดรถได้ทั้งหมด 1,200 คัน


ข้อมูลจาก:prachachat.net

แชร์บทความนี้


Popular Articles


Articles

วิธีคลายร้อนให้บ้าน ช่วงหน้าร้อนนี้

อากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไท ... Continue Reading...

เช่าคอนโดครั้งแรก คำแนะนำ สำหรับผู้เช่ามือใหม่

การ เช่าคอนโด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม ... Continue Reading...

5 วิธีที่ห้องนอนของคุณทำลายการนอนหลับของคุณ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดี แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามปัจ ... Continue Reading...

พาส่อง 4 โครงการใหญ่ ใกล้เปิดตัวในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ มักจะผูกพันกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... Continue Reading...

คอนโดผู้สูงอายุ ดีไหม พร้อมแนะนำ 5 คอนโดผู้สูงอายุในไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ทิศทางของตลาดอสังหาฯ เริ่มพัฒนาที่อยู ... Continue Reading...