ชัชชาติ ส่งสัญญาณ คอนโดล้นเป็นจุด ๆ "เล็งทำเลต้องแม่น"

แชร์บทความนี้

ครบ 2 ปี 4 เดือนพอดีกับบทบาท CEO บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Q HOUSE รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เน็ตไอดอล ขวัญใจคนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียล เจ้าของฉายา "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" ซึ่งยังคงโลว์โปรไฟล์ตามสไตล์

 

ล่าสุดซีอีโอติดดินได้เปิดใจถึงปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทยที่ต้องการก้าวสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ "นวัตกรรม" เพิ่มมูลค่า หรือ "ไทยแลนด์ 4.0"

 

วิธีคิดต้องปรับ

 

"ทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว วินาทีนี้ทุกคนต้องปรับตัว อย่างแรกเลยคือต้องปรับวิธีคิด ในแง่องค์กรธุรกิจใหญ่ ๆ ผมเชื่อว่า เขาได้ปรับกันไปพักใหญ่แล้ว ภาคเอกชนจึงเป็นเหมือนพลังขับเคลื่อน"

 

"ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ในมุมมองรวม ๆ ผมห่วงว่าจะมีคนตกรถเยอะ" นั่นหมายถึง คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจหรือไม่ได้เดินไปด้วยกัน จึงห่วงว่าแล้วพวกเขาจะทำอย่างไรกับ 4.0 ในรูปแบบไหน คนทั้งประเทศจะรับมือกับ "จุดเปลี่ยน" ตรงนี้ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมคิด

 

ขอโตไปด้วยกัน

 

เหมือน EEC (นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) จะทำอย่างไรให้คนทั้งประเทศได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ต้องมีอีเวนต์อื่น ๆ ช่วยกันพาไปหรือเปล่า ภาคเกษตรเราเอง ซี.พี.ไปได้อยู่แล้ว แต่เกษตรส่วนใหญ่จะไปได้มั้ย คอร์ปอเรตรายย่อยจะยืนยังไง คำถามคำตอบมีหลายมิติ

 

ถ้าย้อนดูประเทศเราโครงสร้างเกษตรกรที่เป็นฐานใหญ่จะต้อง "ทรานส์ฟอร์ม" แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์โดยรวม ก็ต้องคิดเยอะ ขอแต่ "อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เพราะยังมีอีกหลายภาคธุรกิจที่ต้องเดินไปด้วยกัน

 

มุมมองอสังหาฯ 4.0

 

กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4.0 "รศ.ดร.ชัชชาติ" มองว่า เรียลเอสเตตเป็นกึ่ง ๆ ปลายน้ำ เป็นดีมานด์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในแง่ของ 4.0 รูปแบบคงไม่ได้เปลี่ยนมาก เพราะเป็นการก่อสร้างทำบ้านขาย

 

"แต่ที่เปลี่ยนมาก ๆ คือ กระบวนการสื่อสารหรือสื่อความมากกว่า เป็นการเปลี่ยนในแง่ของแพลตฟอร์ม การโฆษณาในรูปแบบเดิมจะเปลี่ยนไปหมด ดูจากป้ายโฆษณา คัตเอาต์ บิลบอร์ด หายไปเยอะ แต่เทรนด์ออนไลน์มามากขึ้นเรื่อย ๆ"

 

"ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มใหม่ อสังหาริมทรัพย์ก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ต้องสร้างคุณภาพขึ้นมาเป็นจุดขายหลัก ใครทำธุรกิจนี้ วันนี้ หลอกใครไม่ได้แล้ว"

 

"คุณภาพ" จะเป็นตัวฟ้อง "ผลงาน"...ถ้าสินค้าคุณไม่มีคุณภาพ คุณก็อยู่ไม่ได้ เพราะ "โลกโซเชียล" เป็นเหมือน "กระจกรอบด้าน" ที่ส่องตัวเราและตัวคุณ อย่างนโยบาย เราเน้นเรื่อง "คุณภาพ" ตามชื่อบริษัท โดยเน้นช่องทาง "อินเทอร์เน็ต" ใครสนใจข้อมูลอะไร ทุกอย่างจะอยู่หน้าจอหมด สามารถหาได้รวดเร็ว

 

ตัวแปรคืออารมณ์

 

รศ.ดร.ชัชชาติให้ข้อคิดอีกว่า เรื่อง "อารมณ์" ของคนทุกวันนี้ถือเป็น "ตัวแปร" สำคัญที่สุด เพราะมีหลายมิติและค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งมีผลผูกโยงเกี่ยวข้องกับวิถีของชีวิตและธุรกิจใน "โลกใบใหม่"

 

ทั้งสามารถแปรเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างคาดไม่ถึง มีทั้งผลบวกและลบ ต้องระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของการทำธุรกิจและการทำตลาดในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทไหน เราต้องรู้เท่าทันและบริหารสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ว่าใคร อะไร ไปทางไหน

 

โลกเปลี่ยนเร็ว คนเปลี่ยนช้า

 

ส่วนเทรนด์ของ "พร็อปเทค" จริง ๆ แล้วในธุรกิจอสังหาฯเราได้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2007 เรามองเห็นมานาน เราใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมาพักใหญ่แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น ปัญหาคือคนจะเปลี่ยนไม่ค่อยทัน หรือเปลี่ยนได้ช้าสุด

 

"คนที่เปลี่ยนทัน เปลี่ยนได้เร็วก็จะได้ประโยชน์จากจุดตรงนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คอร์ปอเรตใหญ่ ๆ ที่ปรับตัวทันก็จะไปได้ดี ที่ปรับตัวไม่ทันก็มี"

 

แล้วธุรกิจที่สปีดตัวไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซีอีโอคิวเฮ้าส์ให้ความเห็นว่า อินโนเวชั่นคือสิ่งจำเป็น เอสเคิร์ฟคงสั้นลง เมื่อก่อนเอสเคิร์ฟจะยาว เหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้เวลานาน ก็จะกินเอสเคิร์ฟตัวเดิม แต่ปัจจุบันเอสเคิร์ฟสั้นลง บางธุรกิจ 1-2 ปีเอง คือต้องหาเอสเคิร์ฟตัวใหม่ เหมือนที่ประเทศไทยพยายามอยู่ แต่ก็ต้องดูอนาคตให้แม่น ๆ ด้วยว่าอะไรคือเอสเคิร์ฟ

 

เช่นเดียวกับระบบการศึกษาไทยต้องเปลี่ยน แล้วที่พูดมาตลอด คือ โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ใช่ "เครื่องมือวิเศษ" ที่จะเปลี่ยนประเทศได้ หรือประเทศจะเปลี่ยนก็ไม่ใช่ ทุกอย่างต้องดูความเหมาะสมและเป็นไปได้ เช่น สร้างแอร์พอร์ตอยู่กลางทุ่ง จะสวยหรูแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีใครมา

 

"อินโนเวชั่น" จึงเป็นกลไกสำคัญของ "ไทยแลนด์ 4.0"

 

อย่างแบงก์ก็กังวลว่า ถ้าฟินเทคมาจะทำให้บริษัทที่ไม่มีต้นทุนมาแทนที่ หรืออย่างอาลีบาบาที่ไม่ได้มีต้นทุนเดิมก็เกิดได้ หรือแท็กซี่อูเบอร์ เป็นต้น

 

หัวใจคือเรื่องคน ฉะนั้น เรื่องการศึกษากับการเรียนรู้บ้านเราที่ไปกันคนละทาง ต้องคิดและสร้างกันใหม่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม เพราะหัวใจคือเรื่องคน สองปีที่ผ่านมา ผมได้ปรับเปลี่ยนองค์กร "คิวเฮ้าส์" เป็นการภายใน พยายามรีดไขมัน ซึ่งคิดว่าทุกองค์กรก็มีพูดง่าย ๆ คือ "พยายามลดค่าใช้จ่ายแล้วเพิ่มประสิทธิภาพ"

 

ผมจึงกระตุ้นให้พนักงานคิดสร้างสรรค์ ส่วนตัวผมคิดว่า "อินโนเวชั่น" เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกคนคิดได้หมด แค่ปรับวิธีคิด แล้วหาความรู้ใหม่ ๆ มาเสริม "อินโนเวชั่นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนมีสิทธิ์คิดได้หมด" ที่แล้วมาคนชอบคิดว่าต้องคิดใหญ่ จริง ๆ ไม่ใช่ แค่เอาองค์ความรู้ใหม่เข้ามาแล้วปรับกระบวนการให้ดีขึ้น เพื่อทุกคนในองค์กรเดินไปข้างหน้าได้

 

อย่างคิวเฮ้าส์เราให้อินโนเวชั่นเป็นแบบบ้าน หรืออะไรก็ได้ที่เป็นกระบวนการมาจาก "ความคิด" ใหม่ ๆ แล้วใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไป

 

"อย่าคิดว่านวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว อย่างปรับแบบบ้าน ทุกคนต้องทำ ถ้าไม่ทำ เราจะกลายเป็นสินค้าคอมมิวนิตี้ ถ้าไม่มีอินโนเวชั่นก็จะมาแข่งกันเรื่องราคา ใครถูกกว่า แต่ไม่ได้แข่งว่าใครดีกว่า" คีย์คือเรื่องอินโนเวชั่นกับธุรกิจนั้น ต้องคิดเป็นเอสเคิร์ฟตัวใหม่ของประเทศ ทุกคนต้องพยายามไปถึงจุดนั้นให้ได้

 

คอนโดฯล้นเป็นจุด ๆ

 

เหมือนทำอสังหาฯต้องดูแนวโน้มการเติบโตของเมือง ดูพฤติกรรมลูกค้า แต่ที่ยากคือการดูทำเล เพราะสำคัญมาก ๆ ว่าเราจะทำโครงการสำเร็จหรือไม่ อย่างเรากับคู่แข่ง อยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่ที่จะเฉือนกันอยู่ที่จุดที่ตั้งโครงการ ใครตั้งฝั่งไหนดีกว่า ใกล้ไกลจุดกลับรถ การเลือกทำเลต้องแม่น

 

"เราพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าจังหวะไม่ดี เรารอได้ เพราะอสังหาฯต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ จึงต้องรอบคอบและอาศัยประสบการณ์เข้าช่วย"

 

ทิศทางโดยรวมดีกว่าเดิม เศรษฐกิจปีนี้ก็ลุ้นกันอยู่ แต่ตลาดกลางล่างไม่ดี คนไม่มีเงิน แบงก์ปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อด้วย ที่น่าห่วงคือซัพพลายคอนโดฯมีมากขึ้นหลายจุด และล้นเป็นจุด ๆ ใครมีที่ดินก็ขึ้นโครงการเป็นซัพพลายที่เกิดจากมือสมัครเล่นส่วนหนึ่ง อีกส่วนมาจากการแข่งกันเปิดโครงการให้ครบทุกเซ็กเมนต์ทุกระดับราคา เหมือนโต๊ะจีน

 

สำหรับประเด็น "ที่ดิน" แพงเกินเหตุ คงต้องให้เป็นเรื่องของดีมานด์ซัพพลาย เมื่อถึงจุดหนึ่งกำลังซื้อไม่ได้ก็ไม่ซื้อ ก็มีที่ดินที่ตั้งราคาแล้วไม่มีคนซื้อก็เยอะเหมือนกัน ไม่ได้ขายง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

 

"ส่วนกลุ่มลูกค้า ปัจจุบันเราขยายฐานลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ ที่โตจากครอบครัวเดิม ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่เชื่อโฆษณาของบริษัทอีกต่อไปแล้ว" แต่จะเชื่อจากการบอกต่อ ๆ กันมากกว่า โดยโลกโซเชียล ..นี่คือจุดเปลี่ยนอสังหาฯในยุค 4.0

ข้อมูลจาก:
แชร์บทความนี้


บทความยอดนิยม


บทความใหม่ล่าสุด

6 ฟีเจอร์ในบ้านยุคใหม่ ที่ผู้ซื้อมองหา

ความต้องการของผู้ซื้อบ้านในยุคปี 2024 นี้ ก็แตกต่างจากยุคสมัยก่อน ดังนั้น เราจึงตรงปรับฟังก์ชั่นการใ ... อ่านต่อ...

ซื้อที่ดินทำเกษตร ในวัยเกษียณ ต้องดูอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเพื่อการดำรงชีพ การดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก หรือเพียงแค่งานอดิเรก การซื้อที่ดินเพื ... อ่านต่อ...

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง (พร้อมตัวอย่าง)

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีความสำคัญมาก หลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคาได้เรียบร้อย และอาจจะกำลังวางเ ... อ่านต่อ...

เทคนิคการถ่ายภาพอสังหาฯ ด้วยมือถือ ดึงดูดผู้ซื้อ เมื่อลงประกาศขาย

ประกาศที่มีรูปภาพสวยกว่า มักจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากกว่า ดังนั้น รูปภาพอสังหาฯ จึงมีความสำคัญอย ... อ่านต่อ...

บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝด แตกต่างกันยังไง เลือกแบบไหนดี

ผู้ที่กำลังซื้อบ้าน อาจจะสงสัยว่า บ้านเดี่ยว กับ บ้านแฝดแตกต่างกันยังไง และควรเลือกแบบไหนดี เมื่อซื้ ... อ่านต่อ...